Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 มกราคม 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

‘Make America Great Again’ ... จับตาผลกระทบต่อทิศทางการค้าการลงทุนโลก จากนโยบายสหรัฐฯ ที่เปลี่ยนไป (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2818)

คะแนนเฉลี่ย

การเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของสหรัฐฯ คนที่ 45 อย่างเป็นทางการของนายโดนัลด์ ทรัมป์ เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2560 ภายใต้วิสัยทัศน์ 'Make America Great Again' มาจากการแนวคิดที่ว่ากระแสโลกภิวัตน์และระบอบการค้าเสรีที่ไม่เป็นธรรม นำมาซึ่งผลกระทบต่อการสูญเสียรายได้ภาครัฐ ตำแหน่งงาน และความสามารถทางการแข่งขันของสหรัฐฯ โดยเป้าหมายหลักในการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯคงเป็น 2 ประเทศคู่ค้าหลักอย่างเม็กซิโก และจีน
โดยผลกระทบในระยะเฉพาะหน้าที่มีต่อการค้าระหว่างประเทศยังจำกัด เนื่องจากการดำเนินมาตรการต่างๆ ของสหรัฐฯ จำเป็นต้องอาศัยกระบวนการทางกฎหมายเพื่อรองรับ ทว่า ความไม่แน่นอนเชิงนโยบายจะก่อให้เกิดสูญญากาศในการลงทุน และการไหลเข้าของ FDIsนอกจากนี้ ผลกระทบทางอ้อมที่อาจเกิดขึ้นคือ เครือข่ายห่วงโซ่อุปทานในเอเชียตะวันออก โดยเฉพาะอาเซียน-5 ซึ่งผูกพันกับภาคการผลิตของจีนอย่างแน่นหนา รวมถึงมีจีนเป็นตลาดส่งออกหลัก ก็จะได้รับผลกระทบผ่านทั้งการค้าและการลงทุนอีกด้วย
สำหรับระยะปานกลางถึงระยะยาวนั้น คงต้องติดตามนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่คงออกมาเป็นรูปธรรมมากขึ้นตามลำดับ ซึ่งท้ายสุดคงจะส่งสัญญาณถึงอุปสรรคทางการค้าระหว่างประเทศที่คงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ อันอาจมีผลเปลี่ยนรูปแบบของห่วงโซ่การผลิต รวมถึงแบบแผนการลงทุนและการไหลเวียนของ FDIs ของโลกในท้ายที่สุดกลุ่มประเทศที่น่าจะได้รับผลกระทบที่รุนแรง คงหนีไม่พ้นกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่พึ่งพาการลงทุนและการส่งออกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
สำหรับผลกระทบต่อไทยนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า จะเป็นผลทางอ้อมจากมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีน ที่ส่งผ่านมายังสินค้าส่งออกของไทยที่เชื่อมโยงอยู่ในห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งคงส่งผลให้ไทยสูญเสียมูลค่าการส่งออกสินค้าค่อนข้างจำกัด คิดเป็นมูลค่าประมาณ 160 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทว่า ผลกระทบที่มีนัยสำคัญต่อการส่งออกไทย น่าจะเกิดจากการชะลอตัวมากกว่าที่คาดของเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจส่งผลให้การส่งออกของไทยไปจีนในปี 2560 ไม่สามารถเติบโตในแดนบวกได้ และอาจหดตัวราวร้อยละ (-)0.5 ถึง (-)1.0 จากเดิมที่คาดว่าการส่งออกของไทยไปจีนจะสามารถขยายตัวในช่วง ร้อยละ 0.6-2.6 ขณะที่ ในระยะยาว หากไทยไม่สามารถปรับเปลี่ยนโครงสร้างการผลิตและการส่งออกให้เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายที่มีมูลค่าเพิ่มสูงได้ ไทยมีความเสี่ยงมากขึ้นที่จะเผชิญภาวะชะลอตัวอย่างมีนัยสำคัญของ FDIs และอาจไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการย้ายฐานการผลิตของจีนมายังอาเซียน ภายใต้บริบทการกีดกันทางการค้าที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ