การแถลงนโยบายเศรษฐกิจต่อสภาคองเกรสครั้งแรกของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ยังคงฉายภาพกว้างของนโยบายเศรษฐกิจ โดยสะท้อนท่าทีผ่อนคลายแรงกดดันของการกีดกันทางการค้ากับต่างประเทศ จากการประกาศสนับสนุนกรอบการค้าเสรี (Free Trade) แต่ต้องเป็นการค้าที่มีความเป็นธรรม (Fair Trade) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่สหรัฐฯ อาจใช้การเก็บภาษี Border Adjustment Tax (BAT) เป็นเครื่องมือในการกีดกันทางการค้าและการกระตุ้นการส่งออกผ่านการปรับโครงสร้างต้นทุนภาคการผลิต แต่น่าจะกำหนดขอบข่ายในการบังคับใช้ ทั้งอัตราการเก็บภาษีและรูปแบบการจัดเก็บเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อการผลิตและการบริโภคในประเทศ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นการเก็บภาษีจำกัดเฉพาะสินค้าขั้นสุดท้าย สินค้าไทยจึงยังมีโอกาสได้อานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจและการบริโภคของสหรัฐฯ ในระยะต่อไป โดยเฉพาะสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางที่สหรัฐฯ ไม่สามารถผลิตได้ และเป็นสินค้าที่สอดคล้องกับธุรกิจที่จะกลับขยายการลงทุนในสหรัฐฯ ตามนโยบายกระตุ้นการลงทุนและการผลิตในประเทศ
นอกจากนี้ นโยบายการปรับโครงสร้างภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคลยังส่งผลโดยตรงต่อภาคการผลิตและการบริโภคในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ อันมีผลสะท้อนกลับมายังโอกาสการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ใน 2 มิติ คือ 1.มิติของการเป็นผู้ส่งออกสินค้าเพื่อการบริโภคไปยังสหรัฐฯ แม้จะมีความไม่แน่นอนของมาตรการกีดกันทางการค้าที่ แต่สินค้าอุปโภคบริโภคของไทยที่มีความโดดเด่นที่สามารถดึงดูดการบริโภคของชาวอเมริกันได้อย่างเหนี่ยวแน่นและสหรัฐฯ ผลิตได้ไม่เพียงพอมีโอกาสทำตลาดได้ โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าอาหารและสินค้าไลฟ์สไตล์ และ 2. มิติของการเป็นผู้ผลิตในห่วงโซ่การผลิตของสหรัฐฯ ควรเตรียมปรับตัวในระยะต่อไป โดยสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทยที่ส่งออกไปป้อนการผลิตในประเทศที่เป็นฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติในประเทศต่างๆ และมีปลายทางการส่งออกสินค้าขั้นสุดท้ายไปยังตลาดสหรัฐฯ อาจได้รับผลจากการปรับผังโครงสร้างการผลิตตามนโยบายของบริษัทแม่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโยกย้ายสายการผลิตที่มีศักยภาพพอจะขยายตลาดและสร้างกำไรจากการเพิ่มการลงทุนที่สหรัฐฯ และลดกำลังการผลิตในต่างประเทศ อาทิ จีน เม็กซิโก ญี่ปุ่น ที่เป็นเป้าหมายหลักในการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี ผลจากนโยบายต่างๆ คงไม่ส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในปี 2560 นี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงยังคงคาดการณ์การส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ในปี 2560 สามารถรักษาระดับการเติบโตได้ที่ขยายตัวร้อยละ 1.3-2.5 มีมูลค่าการส่งออก 24,680-24,980 ล้านดอลลาร์ฯ และถ้าหากการส่งออกเติบโตได้ดีต่อเนื่องจากเดือนมกราคมที่ขยายตัวร้อยละ 9.5 (YoY) ประกอบกับผลบวกของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เร่งตัวขึ้น มีโอกาสที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยอาจจะปรับเพิ่มประมาณการในระยะข้างหน้า
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น