Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 มิถุนายน 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

BREXIT ครบรอบ 1 ปี … มรสุมทางการเมืองรุมเร้า หนทางข้างหน้ายังคลุมเครือ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2852)

คะแนนเฉลี่ย

ครบรอบ 1 ปี ของการเกิด BREXIT แต่ก็ยังไม่มีความคืบชัดเจนเท่าใดนัก ขณะที่ข้อผูกมัดของมาตรา 50 ตามสนธิสัญญาลิสบอน ที่กำหนดให้อังกฤษต้องถอนตัวออกจาก EU ภายในวันที่ 29 มีนาคม 2562 แล้วหลังจากนั้นทาง EU จึงจะเริ่มคุยกับอังกฤษว่าจะจัดทำความตกลงในรูปแบบใด ทำให้ช่วง 21 เดือนที่เหลือ มีความสำคัญอย่างมากในการต่อรองเพื่อหารูปแบบความสัมพันธ์ระหว่างอังกฤษกับ EU ในอนาคต แต่ด้วยการเมืองที่ไม่แน่นอนอาจทำให้บทสรุปของ BREXIT เกิดได้หลายแบบ โดยในกรณีที่ดีสุด รัฐบาลชุดปัจจุบันสามารถประคองเสียงในสภาและบรรลุเป้าหมาย BREXIT ได้ทันตามกำหนดเวลา ซึ่งรัฐบาลน่าจะยอมรับข้อตกลงของ EU เพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิประโยชน์ต่างๆ หรือเกิด Soft BREXIT อันจะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย และในกรณีที่รัฐบาลเผชิญมรสุมทางการเมืองรุมเร้าจากเหตุการณ์ไม่คาดคิดจนกระทั่งนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่ ก็อาจต้องล้มกระดานการเจรจา BREXIT แล้วกลับไปสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง โดยยังคงต้องติดตามต่อไป

ทั้งนี้ ภายใต้รัฐบาลผสมของนางเทเรซา เมย์ ถ้าหากผ่านบททดสอบทางการเมืองไปได้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า อังกฤษน่าจะยอมเจรจาตกลงชำระค่า BREXIT Bill อันเป็นเงื่อนไขสำคัญของ EU เพื่อให้อังกฤษได้มาซึ่ง Single Market และ Customs Union หรือ Soft BREXIT พร้อมทั้งได้รับการผ่อนผันกฎระเบียบให้อังกฤษปรับตัวระหว่างการเปลี่ยนผ่านสู่ความตกลงใหม่ อันจะสร้างประโยชน์ต่อภาคธุรกิจชดเชยกับเงินที่อังกฤษต้องเสียไปได้ แต่หากว่าในท้ายที่สุดไม่สามารถตกลงกันได้ภายในกำหนดเวลา ทำให้อังกฤษต้องหน้าเจรจา FTA กับ EU ภาคธุรกิจในอังกฤษจะต้องรับมือกับกำแพงภาษีศุลกากรของ EU ที่กลับมาสู่ระดับปกติ (MFN Rate) กระทบต่อการเคลื่อนย้ายวัตถุดิบระหว่างห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจอังกฤษที่เป็นฐานการผลิตที่สำคัญของ EU อย่างไรก็ดี การเจรจาที่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อภาคธุรกิจใน EU ที่มีห่วงโซ่ธุรกิจเชื่อมโยงกันอยู่มากยิ่งขึ้น จึงยังต้องติดตามความคืบหน้าอย่างใกล้ชิด

นับจากเกิด BREXIT ภาคเศรษฐกิจจริงของอังกฤษยังได้รับผลกระทบไม่รุนแรงมากนัก แต่จากนี้ไปอาจชะลอตัวลงจากหลายปัจจัย อาทิ การลงทุนในประเทศที่อ่อนแอลง และความไม่แน่นอนทางการเมืองอาจส่งผลให้ต่อค่าเงินปอนด์ผันผวนจนกว่าจะได้บทสรุปที่ชัดเจน อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทั้งอังกฤษและ EU ต่างก็ซึมซับผลกระทบของ BREXIT มาระยะเวลาหนึ่งและผ่านพ้นความเปราะบางมาแล้ว ทำให้ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2560 การส่งออกของไทยไปอังกฤษเติบโตสูงร้อยละ 16.0 (YoY) อันจะเป็นแรงส่งสำคัญทำให้ทั้งปี 2560 เติบโตที่ราวร้อยละ 6.2 (YoY) (จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.7 ในปี 2559) มีมูลค่าการส่งออกราว 4,090 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการเติบโตร้อยละ 5.0-7.1 หรือมีมูลค่าระหว่าง 4,050-4,130 ล้านดอลลาร์ฯ) รวมทั้งทำให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไป EU ในปี 2560 สามารถเติบโตดีขึ้นร้อยละ 3.2 (จากที่ขยายตัวร้อยละ 0.4 ในปี 2559) โดยมีมูลค่าส่งออก 22,770 ล้านดอลลาร์ฯ (กรอบประมาณการเติบโตร้อยละ 2.3-4.3 โดยมีมูลค่า 22,570-22,986 ล้านดอลลาร์ฯ)

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ