Display mode (Doesn't show in master page preview)

17 กรกฎาคม 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอลงในช่วงครึ่งหลังของปี 2560... จับตาแรงส่งจากการส่งออกและการลงทุนภาครัฐที่ทยอยอ่อนแรง (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3690)

คะแนนเฉลี่ย
  • ทางการจีนประกาศตัวเลขเศรษฐกิจประจำไตรมาส 2/2560 ขยายตัวร้อยละ 6.9 (YoY) เติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/2560 ทั้งนี้ แรงส่งหลักๆ มาจากภาคการส่งออกของจีนที่ในไตรมาส 2/2560 ขยายตัวถึงร้อยละ 9.4 (YoY) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี โมเมนตัมของภาคเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนในช่วงไตรมาส 2/2560 กลับส่งสัญญาณอ่อนแรงลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรที่เติบโตชะลอลงที่ร้อยละ 8.6 (YoY, YTD)
  • เมื่อพิจารณาดัชนีชี้นำเศรษฐกิจอย่าง PMI ภาคการผลิต พบว่า ดัชนีย่อยสินค้าคงคลังทั้งทางด้านวัตถุดิบและสินค้าสำเร็จรูป ต่างก็อยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (หดตัว) มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงดัชนีย่อยการจ้างงานที่พลิกกลับมาต่ำกว่า 50 อีกครั้งในช่วงไตรมาส 2/2560 แสดงถึงแนวโน้มเศรษฐกิจภายในประเทศของจีนที่ค่อนข้างเปราะบาง เมื่อผนวกกับแรงส่งจากภาคการส่งออกของจีนที่น่าจะอ่อนแรงในช่วงที่เหลือของปี ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโตชะลอลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ปรับคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจจีนปี 2560 ขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 6.7 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 (คาดการณ์ ณ เมษายน 2560) จากการเติบโตที่เหนือความคาดหมายในช่วงครึ่งปีแรกเป็นสำคัญ
  • ทั้งนี้ ด้วยสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในช่วงครึ่งแรกของปี 2560 ที่ขยายตัวได้ดี คงช่วยให้ทางการจีนมีช่องว่างทางนโยบายในการจัดการปัญหาเชิงโครงสร้างมากขึ้น ตามแนวทางจากการประชุมคณะทำงานภาคการเงินแห่งชาติครั้งที่ 5 เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ที่ทางการจีนส่งสัญญาณยกระดับความสำคัญของการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบสถาบันการเงินขึ้นเป็นวาระแห่งชาติ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าในระยะเฉพาะหน้าทางการจีนคงดำเนินการจำกัดการเติบโตของภาวะฟองสบู่ในภาคอสังหาริมทรัพย์และการลงทุนในภาคดังกล่าว ขณะที่ เศรษฐกิจจีนในระยะปานกลางยังคงเผชิญปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่สมดุล โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาหนี้ภาคธุรกิจ ที่ส่วนใหญ่เป็นหนี้ของรัฐวิสาหกิจดั้งเดิมที่มีศักยภาพในการผลิตต่ำ ซึ่งคงจะเป็นปัจจัยถ่วงการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนในช่วงเปลี่ยนผ่านต่อไป และคงเป็นความเสี่ยงเชิงระบบในระยะปานกลางที่ไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งจำเป็นต้องติดตามความแน่วแน่จากทางฝ่ายการเมืองของจีนในการจัดการกับปัญหาดังกล่าวต่อไปในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ