Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 กันยายน 2560

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่อ่อนแรงลดทอนภาพบวกจากตัวเลขการค้าระหว่างประเทศ ตอกย้ำมุมมองการชะลอแผนปฏิรูปครั้งสำคัญของทางการจีน (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3701)

คะแนนเฉลี่ย

ดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจจีนที่สำคัญเปิดเผย ณ วันที่ 14 ก.ย. 2560 บ่งชี้การชะลอตัวของทั้งฝั่งอุปสงค์และอุปทาน ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือน ส.ค. ขยายตัวร้อยละ 6.0 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ลดลงอย่างมากจากเดือน ก.ค. ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 6.4 ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์ถาวรเติบโตร้อยละ 7.8 ระหว่างเดือนม.ค. - ก.ค. โดยลดลงอย่างมากจากร้อยละ 8.3 ในช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เช่นเดียวกับยอดขายปลีกเดือน ส.ค. เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.1 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ชะลอลงจากร้อยละ 10.4 ในเดือน ก.ค.

ข้อมูลทางเศรษฐกิจข้างต้นแม้ดูเหมือนว่าจะให้ภาพที่ขัดแย้งกับตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ที่ค่อนข้างสดใสซึ่งประกาศออกมาก่อนหน้านี้ อย่างไรก็ตาม เมื่อวิเคราะห์ลงไปในรายละเอียด จะพบว่าแม้ตัวเลข PMI ที่ดูเหมือนแข็งแกร่ง แต่ก็ปรากฏความอ่อนแอทางเศรษฐกิจในบางภาคส่วน โดยข้อมูลดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคการผลิตของทางการ ประกาศ ณ วันที่ 31 ส.ค. ปรับตัวดีขึ้นไปอยู่ที่ 51.7 จากระดับ 51.4 ในเดือน ก.ค. อย่างไรก็ดี ตัวเลขดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อในภาคบริการของทางการชะลอตัวลงมาอยู่ที่ 53.4 จาก 54.5 ในเดือน ก.ค. บ่งชี้ว่าภาคบริการซึ่งคิดเป็นร้อยละ 51.6 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศใน ปี 2559 กำลังอ่อนแรงลง

ข้อมูลการค้าระหว่างประเทศของจีนที่ออกมาในเดือนสิงหาคมบ่งชี้ถึงการนำเข้าในเดือนส.ค.ขยายตัวร้อยละ 13.3 เร่งขึ้นจากร้อยละ 11.0 ในเดือนก.ค. อย่างไรก็ดี การส่งออกกลับขยายตัวที่เพียงร้อยละ 5.5 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นอัตราที่ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 7.2 ในเดือน ก.ค. ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุลลดลงจากเดือนก.ค.ที่ 46,730 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มาอยู่ที่ 41,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนส.ค.

ตัวชี้วัดทางเศรษฐกิจที่แผ่วลง ทั้งการผลิตภาคอุตสาหกรรมและยอดขายปลีก รวมทั้งตัวชี้วัดหลักเช่นการนำเข้าและดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ล้วนแสดงภาพเศรษฐกิจที่คลุมเครือ โดยที่เส้นทางการเติบโตทางเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน ขณะที่การประชุมสมัชชาพรรคคอมมิวนิสต์แห่งชาติครั้งที่ 19 กำลังจะเกิดขึ้น สิ่งนี้ตอกย้ำมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่า รัฐบาลจีนจะยังไม่ทำการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจบางประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการจำกัดการขยายตัวของสินเชื่อและ/หรือกำลังผลิตส่วนเกิน ในเร็วนี้จนกระทั่งถึงปลายปีเป็นอย่างเร็วที่สุด ในขณะเดียวกันการชะลอตัวลงของการผลิตและการลงทุน และอัตราเงินเฟ้อที่ขยับสูงขึ้นนั้น ต่างตรงตามการคาดการณ์ของศูนย์วิจัยกสิกรไทยว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอลงจากการเติบโตโดยอัตราเฉลี่ยที่ 6.9 จากสองไตรมาสแรกไปสู่ 6.6 ในไตรมาสที่สาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ