การส่งออกของไทยไปยังกัมพูชาเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (ปี 2551-2559) โดยหากไม่นับรวมถึงการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปและทองคำที่มีความผันผวนทางราคา พบว่า ขยายตัวเฉลี่ยที่ร้อยละ 12.6 ต่อปี ทว่า เป็นที่น่าสังเกตว่า อัตราการขยายตัวดังกล่าวในระยะ 5 ปีหลังที่ผ่านมา (ปี 2555-2559) กลับอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี ชะลอลงอย่างมีนัยสำคัญจากร้อยละ 18.6 ในช่วง 5 ปี ก่อนหน้า (ปี 2550-2554) สะท้อนทั้งการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเศรษฐกิจของกัมพูชาและให้ภาพความสามารถทางการแข่งขันของสินค้าไทยในกัมพูชาที่ปรับตัวลดลงอย่างน่าเป็นห่วง
ภาพเศรษฐกิจโดยรวมของกัมพูชาที่ภาคการผลิตและการลงทุนได้ทวีบทบาทขึ้นในปัจจุบัน นำไปสู่การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบขั้นกลางเพื่อตอบสนองภาคการผลิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมเสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม นอกจากนี้ การขยายตัวของภาคการลงทุนประกอบกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่สอดรับกัน ยังก่อให้เกิดความต้องการสินค้าประเภททุน ที่เพิ่มมากขึ้นอีกด้วย แนวโน้มโครงสร้างการนำเข้าของกัมพูชาที่เปลี่ยนไปดังกล่าว น่าจะส่งผลให้เกิดความท้าทายต่อการส่งออกของไทยในฐานะแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของกัมพูชา เนื่องจากสินค้าหลักที่ไทยส่งไปยังกัมพูชายังเน้นหนักไปที่สินค้าพลังงาน สินค้าอุปโภคบริโภค และสินค้าอื่นๆ อย่างรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยแม้ว่าไทยจะมีแนวโน้มส่งออกสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนอย่างผลิตภัณฑ์พลาสติกและเครื่องจักรกลได้ดี แต่อย่างไรก็ดี ประเทศคู่แข่งทางการค้าอื่นๆ สามารถเร่งขยายตลาดส่งออกมาที่กัมพูชา จากศักยภาพการส่งออกสินค้าที่สอดคล้องและตอบสนองโครงสร้างทางธุรกิจและการนำเข้าที่เปลี่ยนไปของกัมพูชาได้ดีกว่าไทยในปัจจุบัน
เมื่อพิจารณาคู่แข่งทางการค้าไปยังกัมพูชาของไทย พบว่า จีนและเวียดนามนับเป็นประเทศที่น่าจับตามอง โดยไม่เพียงแต่เป็นแหล่งนำเข้าสินค้าของกัมพูชาอันดับที่สองและสามรองจากไทยเท่านั้น แต่ทิศทางการนำเข้าสินค้ายังมีแนวโน้มที่ดีอีกด้วย โดยหลักๆ น่าจะมาจากความเชื่อมโยงทางการลงทุนและห่วงโซ่อุปทานเป็นสำคัญ ทั้งนี้ จีนและเวียดนามส่งออกสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนไปยังกัมพูชาเป็นหลัก คิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 85 และ 50 ของสินค้าทั้งหมด โดยความใกล้ชิดเชื่อมโยงทางการค้าระหว่างจีนและเวียดนามกับกัมพูชาที่ทวีบทบาทขึ้นดังกล่าว ได้จะนำไปสู่การเข้ามาแข่งขันของสินค้าขั้นกลางอื่นๆ เพิ่มเติมในตลาดกัมพูชาที่น่าจะก่อให้เกิดความท้าทายต่อสินค้าส่งออกของไทยได้ในอนาคต
อย่างไรก็ดี ปัจจุบันสินค้าส่งออกหลักของไทยอย่างสินค้าอุปโภคบริโภคยังคงมีความสามารถในการแข่งขันในตลาดกัมพูชา ประกอบกับการส่งออกสินค้าขั้นกลางและสินค้าทุนที่มีแนวโน้มเติบโตที่ดี จึงน่าจะส่งผลให้ไทยมีศักยภาพในการส่งออกไปยังกัมพูชาได้ในระยะข้างหน้า โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกไทยไปกัมพูชาในปี 2560 น่าจะเติบโตต่อเนื่องร้อยละ 6.5 หรือมีมูลค่า 4,977 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และไทยจะยังคงรักษาความสามารถในการส่งออกไปยังกัมพูชาเป็นอันดับหนึ่งเอาไว้ได้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น