Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 มกราคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนปี 2548 ชะลอตัว : ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย

คะแนนเฉลี่ย

เศรษฐกิจจีนในปี 2547 เริ่มต้นด้วยความร้อนแรงหลังจากที่เติบโตในอัตราสูงถึงร้อยละ 11.5 เมื่อปี 2546 ทำให้ธุรกิจหลายประเภท เช่น ยานยนต์ เหล็ก อสังหาริมทรัพย์ เป็นต้น เริ่มส่งสัญญาณฟองสบู่เนื่องจากภาวะอุปทานขยายตัวในอัตราสูงกว่าภาวะอุปสงค์เป็นอย่างมาก ดังนั้น ทางการจีนจึงได้เริ่มออกมาตรการต่าง ๆ เพื่อคุมการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว ทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยรวมของจีนเริ่มลดลงเป็นลำดับ และส่งผลให้ภาวะเงินเฟ้อค่อย ๆ ผ่อนคลายลง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจีนได้ขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างชัดเจนในเดือนตุลาคม 2547 เหลือเพียงร้อยละ 4.3 จากร้อยละ 5 ในช่วงเดือนก่อน ๆ

คาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2547 จะชะลอตัวลงเหลือร้อยละ 9.0-9.5 จากนั้นจะปรับเข้าสู่สมดุลในปี 2548 โดยมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 8.0-8.5 มีแนวโน้มว่าในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจีนจะปรับตัวเข้าสู่ภาวะการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพ โดยคาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5-8.5 ตลอดช่วงเวลานี้ ซึ่งภาวะเศรษฐกิจของจีน
ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อภาวะการค้าและการลงทุนระหว่างไทย-จีน รวมทั้งการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาวด้วย

ความร้อนแรงทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในปี 2547 ทำให้ทางการจีนพยายามแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่ไม่สมดุล โดยหาทางลดอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจลงเพื่อลดปัญหาเงินเฟ้อ ทางการจีนจึงออกพันธบัตรเพื่อมาดูดซับสภาพคล่องในระบบและออกมาตรการทางเศรษฐกิจอีกหลายประการ เช่น เพิ่มเงินสำรองของสถาบันการเงิน ยกเลิกเพดานดอกเบี้ยเงินกู้ และคุมปริมาณสินเชื่อที่ให้กับอุตสาหกรรมบางประเภท นอกจากนี้ National Development and Reform Commission (NDRC) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการวางแผนเศรษฐกิจของจีนยังได้ระงับโครงการลงทุนในอุตสาหกรรมย่อยประเภทต่าง ๆ ถึง 359 ประเภท เช่น เหล็ก และอะลูมิเนียม ยิ่งไปกว่านั้น ทางการจีนยังได้ออกมาตรการเสริมอื่น ๆ เช่น การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดินมิให้มีการลงทุนในอุตสาหกรรมหลายประเภท เป็นต้น มาตรการเหล่านี้ได้ช่วยชะลอการลงทุนและการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศลง จนทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจของจีนลดลงจากร้อยละ 9.7 ในช่วงครึ่งแรกของปี 2547 เหลือร้อยละ 9.1 ในช่วงไตรมาสที่ 3

นโยบายลดอัตราการเจริญเติบโตแบบไม่สมดุลในปี 2547 เป็นหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่จะช่วยให้เศรษฐกิจมหภาคของจีนปรับตัวเข้าสู่การเจริญเติบโตแบบยั่งยืนในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าในอัตราเฉลี่ยร้อยละ 7.5-8.5 โดยปี 2548 จะเริ่มเห็นตัวเลขทางเศรษฐกิจจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยเศรษฐกิจจีนจะถูกขับเคลื่อนด้วยการบริโภคในประเทศคู่กับการส่งออกและการลงทุนจากต่างประเทศ คาดว่าเงินเฟ้อในปี 2548 จะลดลงมาเหลือร้อยละ 2.0-3.0 เนื่องจากการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและราคาน้ำมันที่ลดลง อย่างไรก็ตาม ราคาอาหารและสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่การเกษตรที่ลดลงและการอพยพเข้าสู่เมืองของเกษตรกรในระยะหลายปีข้างหน้า นอกจากนี้ ค่าจ้างแรงงานของจีนก็มีแนวโน้มสูงขึ้นจากโครงสร้างตลาดแรงงานที่อุปทานแรงงานอายุ 18-25 ปีลดลง ทำให้ต้องจ้างแรงงานที่มีอายุมากขึ้นซึ่งคนเหล่านี้มีภาระครอบครัวและต้นทุนแรงงานสูงขึ้น ซึ่งนทางกลับกันค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นจะช่วยให้การบริโภคในประเทศขยายตัวมากขึ้น

โดยภาพรวม เศรษฐกิจจีนที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ย่อมส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกโดยรวม ไทยในฐานะประเทศคู่ค้าสำคัญรายหนึ่งย่อมจะได้รับอานิสงส์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องของจีนในอัตราร้อยละ 7.5-8.5 ในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า ความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นของจีนจะส่งผลดีทั้งในด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวกับไทย ในทางตรงกันข้าม หากเศรษฐกิจจีนประสบปัญหาก็จะส่งผลกระทบในทางลบกับเอเชียและไทยอย่างมาก เนื่องจากปัจจุบันจีนเป็นตลาดอันดับ 4 ของไทย และไทยเป็นเป้าหมายการลงทุนอันดับหนึ่งของจีนในกลุ่มอาเซียน ในด้านการค้า ช่วงหนึ่งปีข้างหน้า เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงในปี 2548 จะทำให้การนำเข้าของจีนขยายตัวในอัตราที่ลดลงชัดเจนโดยเฉพาะสินค้าโภคภัณฑ์ ดังนั้นการส่งออกไปจีนที่ภาครัฐตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายตัวร้อยละ 30 ในปี 2548 อาจเป็นไปได้ยาก เนื่องจากการส่งออกไปจีนในรอบ 9 เดือนแรกของปี 2547 ยังขยายตัวได้เพียงร้อยละ 27 เท่านั้น เมื่อการนำเข้าจากตลาดโลกของจีนลดลงจากร้อยละ 30-35 ในปี 2547 เหลือเพียงร้อยละ 10-15 ในปี 2548 การนำเข้าจากไทยจึงมีแนวโน้มที่จะขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างชัดเจน หากจะมองย้อนกลับไปในปี 2546 เทียบกับปี 2547 การส่งออกของไทยไปจีนได้มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราที่ลดลงอย่างต่อเนื่องจากร้อยละ 60 เหลือเพียงประมาณร้อยละ 27-30 เท่านั้น (กระแสทรรศน์ปีที่ 10 ฉบับที่ 1686)

ในด้านการลงทุน นโยบายส่งเสริมการลงทุนนอกประเทศของจีนรวมทั้งการอนุญาตให้สถาบันการเงินขนาดใหญ่เพิ่มวงเงินลงทุนในต่างประเทศได้ อาจเป็นแรงกระตุ้นให้จีนลงทุนในต่างประเทศเพื่อแสวงกำไรเพิ่มขึ้นเมื่อเศรษฐกิจในประเทศชะลอตัวลง ซึ่งไทยเป็นประเทศแนวหน้าประเทศหนึ่งที่จีนมุ่งขยายการลงทุนเพื่อใช้เป็นฐานกระจายสินค้าอุตสาหกรรมไปยังเขตการค้าเสรีอาเซียน แนวโน้มนี้เริ่มชัดเจนขึ้นในปี 2547 เมื่อโครงการที่จีนขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในรอบ 8 เดือนแรกมีมูลค่า 2,337 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าโครงการขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนในปี 2546 ทั้งปี (กระแสทรรศน์ปีที่ 10 ฉบับที่ 1663) ดังนั้น หากไทยดำเนินมาตรการเชิงรุกเพื่อดึงดูดการลงทุนของจีน ก็เชื่อว่าแนวโน้มการลงทุนของจีนในไทยจะเพิ่มขึ้นจำนวนมากในช่วงปีหน้าเป็นต้นไป

ในด้านอัตราแลกเปลี่ยน หากจีนสามารถสร้างเสถียรภาพให้กับระบบเศรษฐกิจได้ดังที่คาดการณ์ไว้ก็มีแนวโน้มที่จะนำเอาระบบตะกร้าเงินมาใช้และเพิ่มเพดานความเคลื่อนไหวของค่าเงินหยวน ซึ่งจะทำให้ค่าเงินหยวนแข็งขึ้นกว่าปัจจุบันและเป็นผลดีกับค่าเงินสกุลอื่นของเอเชียรวมทั้งเงินบาท ซึ่งขณะนี้แข็งค่าขึ้นมากเทียบกับเงินดอลลาร์และเงินหยวน ทำให้การส่งออกของไทยเริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวลง ดังนั้น ค่าเงินหยวนที่แข็งขึ้นจะช่วยลดความได้เปรียบในเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนของจีนและฮ่องกงลงได้ในระดับหนึ่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ