Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มกราคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจอาเซียนปี 2548 ฝ่ากระแสกีดกันการค้า ... ฟื้นศรัทธาท่องเที่ยว

คะแนนเฉลี่ย

เหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิส่งผลกระทบกระเทือนขวัญและกำลังใจของประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายอย่างใหญ่หลวง ทั้งของประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านเอเชีย รวมถึงส่งผลกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจของประเทศพื้นที่เสียหายในระยะเบื้องต้นของปี 2548 อย่างไรก็ตาม คาดว่าประเทศต่างๆ รวมถึงประเทศไทยจะสามารถระดมกำลังกันช่วยฟื้นฟูเขตพื้นที่เสียหายและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศอย่างแข็งขัน

บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด ประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2548 คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์คลื่นยักษ์สึนามิในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ โดยเฉพาะประเทศอินโดนีเซียและประเทศไทยที่ประสบภัยพิบัติจากคลื่นสึนามิ แต่คาดว่า เหตุการณ์ ดังกล่าวจะไม่น่าจะส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจอาเซียนโดยรวม ทั้งนี้ ประเทศทั้งสองที่ได้รับภัยจากคลื่นยักษ์ยังมิได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 ขณะเดียวกันสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ที่ปลอดจากภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งนี้ จะมีส่วนช่วยประคับประคองการขยายตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มอาเซียนในรอบปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจอาเซียนมีแนวโน้มขยายตัวประมาณ 5.5% ในปี 2548 เทียบกับปี 2547 ซึ่งอยู่ในระดับเฉลี่ยราว 6.5%

ปัจจัยสนับสนุนเศรษฐกิจอาเซียน 2548 ได้แก่

1. การส่งออกอาเซียนเข้มแข็ง

แนวโน้มการส่งออกของอาเซียนปี 2548 ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะชะลอตัวลงจากปี 2547 ปัจจัยที่ช่วยประคับประคองส่งออกอาเซียนได้แก่ (1) การจัดทำ FTA ของอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ และ (2) สิทธิพิเศษทางการค้าที่เวียดนามหนึ่งในประเทศอาเซียนได้รับจากสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

2. การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศสดใส การเติบโตทางเศรษฐกิจ อาเซียนและการปรับปรุงบรรยากาศด้านการลงทุนอย่างต่อเนื่องหลังเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 2541 ทำให้การลงทุนทางตรงจากต่างประเทศเข้ามาในอาเซียนเพิ่มขึ้นเป็นลำดับในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

3. การลงทุนโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ - การลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ (Mega Project) ของภาครัฐของประเทศอาเซียนมีส่วนช่วยเกื้อหนุนเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนในปี 2548 ก่อให้เกิดรายได้และจ้างงานในประเทศ และถือเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศอาเซียนในอนาคต

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของอาเซียนในปี 2548 มีดังนี้

- การชะลอตัวทางเศรษฐกิจของประเทศสหรัฐฯ จีน และญี่ปุ่น ซึ่งเป็น คู่ค้าสำคัญของอาเซียน

- มาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศพัฒนาแล้ว ประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป มีแนวโน้มใช้มาตรการกีดกันทางการค้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการส่งออกของอาเซียน

- การสิ้นสุดโควตาสิ่งทอขององค์การการค้าโลก (Multi-Fibre Agreement : MFA) ในวันที่ 1 มกราคม 2548 ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงกับประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่าอย่างจีน อินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ

- ธุรกิจท่องเที่ยวสะดุด จากเหตุการณ์คลื่นยักษ์สึนามิถล่มทำให้ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย และพม่า ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติครั้งนี้ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและไทยที่ได้รับความเสียหายรุนแรง และอาเซียนยังต้องเผชิญความท้าทายจากแหล่งท่องเที่ยวคู่แข่งภายในภูมิภาคเอเชียด้วยกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งฮ่องกง ซึ่งมีปัจจัยดึงดูดนักท่องเที่ยวหลากหลาย

- เหตุการณ์ความไม่สงบจากปัจจัยทางการเมือง/สังคม/ภัยธรรมชาติของประเทศอาเซียน เช่น ภัยจากคลื่นยักษ์สึนามิ เหตุการณ์ความไม่สงบทางภาคใต้ของไทย พายุหมุ่ยฟ้าในฟิลิปปินส์ ภัยจากการก่อการร้ายข้ามชาติในอินโดนีเซีย และความไม่สงบทางการเมืองในพม่า ล้วนส่งผลกระทบต่อความมั่นคงและการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในอาเซียน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ