Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 กุมภาพันธ์ 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การค้าไทย-ญี่ปุ่นปี 2548 : ส่งออกไทยชะลอตัว

คะแนนเฉลี่ย

การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่น มหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก เริ่มขึ้นเมื่อปี 2545 และปรากฏชัดเจนในปี 2546-47 ด้วยอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจร้อยละ 2.4 และร้อยละ 4.0 ตามลำดับ ทำให้เกิดความคาดหวังว่าเศรษฐกิจแดนซามูไรจะกลับคืนมาเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกอีกครั้งหนึ่งในยามที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปกำลังประสบปัญหา แต่ในที่สุด การขยายตัวอย่างรวดเร็วของญี่ปุ่นกลับชะลอลงอย่างรวดเร็วในช่วงครึ่งหลังของปี 2547 และมีแนวโน้มว่าอาจขยายตัวในอัตราที่ลดต่ำลงอย่างมากในปี 2548 เหลือเพียงร้อยละ 1.4 เท่านั้น การเติบโตที่ลดลงอย่างมากของญี่ปุ่นอาจส่งผลกระทบค่อนข้างมากต่อการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย ดังนั้น การทำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวโน้มทางเศรษฐกิจญี่ปุ่นและทิศทางทางการค้าระหว่างสองประเทศจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการวิเคราะห์แนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2548

การขยายตัวทางเศรษฐกิจรอบใหม่ของญี่ปุ่นได้ขึ้นสู่จุดสูงสุดเมื่อปี 2547 ด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจประมาณร้อยละ 4.0 เนื่องจากปัจจัยบวกทางเศรษฐกิจหลายประการ เช่น การส่งออกสินค้าและบริการ (เพิ่มขึ้น 14%) การลงทุนภาคเอกชน (เพิ่มขึ้น 9.5%) ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (เพิ่มขึ้น 6.1%) การบริโภคภาคเอกชน (เพิ่มขึ้น 3.5%) และการลงทุนสร้างที่พักอาศัย (เพิ่มขึ้น 2.3%) เป็นต้น ผลกำไรของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ทำให้กำไรภาคอุตสาหกรรมเพิ่มร้อยละ 5.4 ช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน 2547 การขยายตัวของธุรกิจเอกชนทำให้อัตราการว่างงานของญี่ปุ่นในปี 2547 ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 4.6 จากร้อยละ 5.0 ก่อนหน้านี้ โดยการจ้างงานผู้ที่เรียนสายวิชาชีพและผู้ที่จบมหาวิทยาลัยสูงขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2547 อย่างไรก็ตาม การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปี 2547 เริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัวในช่วงไตรมาสหลังของปี โดยผลผลิตภาคอุตสาหกรรมเริ่มลดลงในเดือนกันยายน 2547 หลังจากนั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจก็เริ่มช้าลงอย่างชัดเจน โดยการขยายตัวของการส่งออกเริ่มได้รับผลกระทบจากอุปสงค์ในตลาดโลกที่เติบโตช้าลง รวมทั้งผลจากค่าเงินเยนที่แข็งขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดการชะลอตัวของอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและยานยนต์ สินค้า IT และเครื่องจักรกล โดยเฉพาะเซมิคอนดักเตอร์ จอ LCDs อุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์

สำหรับในปี 2548 คาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะได้รับผลกระทบจากการส่งออกสินค้าและบริการซึ่งขยายตัวลดลงเหลือร้อยละ 2.8 การลงทุนภาคเอกชนซึ่งขยายตัวเพียงร้อยละ 3.4 การลงทุนภาครัฐซึ่งยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การบริโภคภาคเอกชนและรัฐก็คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 2.0 และ 1.1 เท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การสำรวจของ Development Bank of Japan ยังพบว่าการลงทุนภาคอุตสาหกรรมของเอกชนในปีงบประมาณ 2548 (เมษายน 2548-มีนาคม 2549) จะลดลงถึงร้อยละ 7.6 การลงทุนภาคบริการโดยเฉพาะด้านการขนส่ง ค้าปลีกและโทรคมนาคมก็คาดว่าจะลดลงเช่นกัน นอกจากแนวโน้มดังกล่าว ภัยธรรมชาติจากไต้ฝุ่น แผ่นดินถล่มและแผ่นดินไหวหลายครั้งในปี 2547 ก็ได้สร้างความเสียหายแก่โครงสร้างพื้นฐานเป็นมูลค่าถึง 2 ล้านล้านเยน และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อการบริโภคภาคเอกชนในปี 2548 ทำให้ GDP ปี 2548 ตลอดทั้งปีขยายตัวในอัตราร้อยละ 1.4

ปีที่ผ่านมาเป็นปีทองของไทยในการค้ากับญี่ปุ่น เนื่องจากไทยส่งออกสินค้าไปยังญี่ปุ่นมูลค่า 13,543.2 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2546 ร้อยละ 19.2 สูงกว่าการขยายตัวของตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 14.2 ในทางกลับกัน ไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 22,416 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.0 โดยเปรียบเทียบการค้าระหว่างประเทศของไทยในปี 2547 พบว่า ตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 13.9 ของตลาดส่งออกทั้งหมดของไทย ในด้านการนำเข้า ญี่ปุ่นยังเป็นแหล่งนำเข้าที่มีสัดส่วนถึงร้อยละ 23.6 เทียบกับจีนและสหรัฐฯ แหล่งนำเข้าอันดับสองและสามของไทยที่มีสัดส่วนเพียงร้อยละ 8.6 และ 7.6 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมดเท่านั้น

ในบรรดาสินค้าส่งออกหลัก ๆ ที่มีลู่ทางแจ่มใสนั้น แผงวงจรไฟฟ้าซึ่งเป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่งขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 83 ในปี 2547 หลังจากขยายตัวสูงถึงร้อยละ 131 ในปี 2546 ตามด้วยเครื่องใช้ฟ้าและส่วนประกอบที่ขยายตัวร้อยละ 84 เลนซ์ขยายตัวร้อยละ 74 ไก่แปรรูปขยายตัวร้อยละ 67 เครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบขยายตัวร้อยละ 58 ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียมขยายตัวร้อยละ 45 และผลิตภัณฑ์ยางขยายตัวร้อยละ 42 นอกจากนี้ ไทยยังเป็นผู้ส่งออกหลักของสินค้าในตลาดญี่ปุ่นหลายรายการ โดยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งสำหรับสินค้ายางพาราและน้ำตาล อันดับ 2 สำหรับสินค้าตู้เย็นและตู้แช่แข็ง อาหารทะเลแปรรูป เนื้อสัตว์ปรุงแต่ง อาหารสัตว์และปลาหมึกแช่แข็ง เป็นต้น

ในด้านการนำเข้า สินค้านำเข้าจากญี่ปุ่นที่สำคัญประกอบด้วยสินค้าทุน สินค้าอุตสาหกรรมขั้นต้นและขั้นกลางในลักษณะที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมการผลิตของไทย ได้แก่ เครื่องจักรอุตสาหกรรม เครื่องจักรไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า เหล็กและเหล็กกล้า ส่วนประกอบรถยนต์ เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์โลหะ และเครื่องมือวิทยาศาสตร์ ซึ่งสินค้าทั้ง 8 รายการดังกล่าวครองสัดส่วนการนำเข้าถึงประมาณร้อยละ 80 ของการนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมด โดยไทยนำเข้าสินค้าทั้ง 8 รายการเพิ่มขึ้นในอัตราระหว่างร้อยละ 14-40 ในปี 2546 และร้อยละ 18-36 ในปี 2547

สำหรับในปี 2548 คาดว่า โครงสร้างทางการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นคงไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยสินค้าส่งออกของไทยจะประกอบด้วยสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และส่วนประกอบ ยางพารา อาหารสำเร็จรูป ส่วนสินค้านำเข้าจะมุ่งไปยังสินค้ากลุ่มเครื่องจักรกล ส่วนประกอบอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ และเคมีภัณฑ์ โดยทิศทางการค้าระหว่างสองประเทศยังคงขยายตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจที่คาดว่าจะชะลอตัวลงของญี่ปุ่นและภูมิภาคเอเชียจะทำให้ปริมาณการค้าระหว่างไทยและญี่ปุ่นขยายตัวในอัตราที่ลดลงจากเดิม โดยเฉพาะสินค้าส่งออก เนื่องจากการบริโภคของญี่ปุ่นที่ลดลง ขณะที่การนำเข้าน่าจะยังเพิ่มในอัตราสูง เนื่องจากการลงทุนเพื่อขยายการผลิตของภาคเอกชนไทยในปี 2548 จำเป็นต้องนำเข้าสินค้าทุนโดยเฉพาะเครื่องจักรกลและปัจจัยการผลิตจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นอีกมาก

เศรษฐกิจต่างประเทศ