Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 เมษายน 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การค้าไทย-จีนปี 2548 : นำเข้าพุ่งสวนทางส่งออก

คะแนนเฉลี่ย

การขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในอัตราร้อยละ 9.5 ในปี 2547 ควบคู่กับการขยายตัวของการส่งออก-นำเข้าในอัตราสูงกว่าร้อยละ 30 ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนจากเอเชียและไทยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการชะลอตัวทางเศรษฐกิจของจีนในปี 2548 ด้วยอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่ร้อยละ 8.5 และการส่งออก-นำเข้าที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 20-25 และร้อยละ15-20 ตามลำดับ ทำให้การนำเข้าสินค้าของจีนจากไทยอาจเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง โดยตัวเลขการนำเข้าในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 เริ่มส่งสัญญาณดังกล่าวแล้ว ในทางกลับกัน รัฐบาลไทยตั้งความหวังจะขยายการส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในปี 2548 เพื่อให้เป้าหมายดังกล่าวสัมฤทธิ์ผล ไทยจำเป็นต้องเร่งเพิ่มอัตราการส่งออกสินค้า 15 รายการแรกที่มีมูลค่าการส่งออกสูง รวมทั้งขยายตลาดสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้รับประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่จะเริ่มต้นขึ้นในปีนี้ เพื่อทดแทนการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิดที่คาดว่าจีนจะนำเข้าลดลง

ปัจจุบันจีนเป็นตลาดสำคัญอันดับสามของไทยรองจากสหรัฐฯ และญี่ปุ่น โดยในปี 2547 ไทยส่งออกสินค้าไปจีนมูลค่า 7.12 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 25.14 สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการส่งออกรวมที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.05 แต่ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 ไทยส่งสินค้าไปจีนมูลค่า 1.16 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 4.61 แต่ก็เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับภาพการส่งออกรวมของไทยในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 ที่ขยายตัวลดลงค่อนข้างมากเหลือเพียงร้อยละ 8.11 เท่านั้น จากการศึกษารายการสินค้าส่งออกไปจีน พบว่าสินค้าส่งออกสำคัญ 15 รายการแรกที่มูลค่าการส่งออกลดลงในช่วงสองเดือนแรกของปี 2005 ได้แก่สินค้าโภคภัณฑ์หลายรายการ เช่น ยางพารา (ร้อยละ -14.04) น้ำมันดิบ (ร้อยละ -36.41) เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ (ร้อยละ -17.99) ข้าว (ร้อยละ -19.26) ซึ่งสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าส่งออกไปจีนอันดับ 2 อันดับ 7 อันดับ 10 และอันดับ 11 ในปี 2004 ทำให้น้ำหนักการส่งออกถูกดึงลงอย่างมาก น่าเป็นห่วงว่าสินค้าส่งออกที่เพิ่มขึ้นในอัตราสูงต่อเนื่องติดต่อกันมาหลายปีบางรายการกลับส่งออกติดลบในช่วงต้นปีนี้ โดยเฉพาะยางพาราและผลิตภัณฑ์ ด้าย ผลิตภัณฑ์พลาสติก รถยนต์และอุปกรณ์ อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับให้สัญญาณเสียงและอุปกรณ์กึ่งตัวนำทรานซิสเตอร์ เป็นต้น

ในทางกลับกัน สินค้าสำคัญที่ไทยมีแนวโน้มส่งออกเพิ่มขึ้นในอัตราสูงในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องจนถึงช่วงต้นปีนี้ได้แก่ คอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ (ร้อยละ 56.61) อันเป็นผลมาจากการขยายการลงทุนผลิตฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟในเมืองไทย เม็ดพลาสติก (ร้อยละ 29.85) เนื่องมากจากการเติบโตของอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในจีนซึ่งคาดว่าจะโตถึงร้อยละ 15 ในปีนี้ เคมีภัณฑ์ (ร้อยละ 17.03) ซึ่งเป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมหลายชนิด แผงวงจรไฟฟ้า (ร้อยละ 42.81) อันเป็นผลมาจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าในจีน ผลิตภัณฑ์ไม้ (ร้อยละ 30.8) เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ของจีน เส้นใยประดิษฐ์ (ร้อยละ 67.52) เนื่องจากการเติบโตของอุตสาหกรรมสิ่งทอของจีน เป็นต้น ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องรักษาอัตราการเติบโตของสินค้าเหล่านี้ควบคู่ไปกับการเร่งส่งออกสินค้าที่การส่งออกลดลงในช่วงต้นปี

อนึ่ง เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนที่ครอบคลุมสินค้าอุตสาหกรรมจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันทื่ 1 กรกฎาคม 2548 จะมีผลให้สินค้าทั่วไปทยอยลดภาษีลงจนถึงร้อยละ 0 ในปี 2553 และสินค้าอ่อนไหวทยอยลดภาษีเหลือร้อยละ 0 ในปี 2558 ซึ่งจะส่งผลให้การค้าไทย-จีนมีปริมาณเพิ่มขึ้นได้อีกทางหนึ่ง คาดว่าสินค้าส่งออกของไทยไปจีนที่น่าจะได้ประโยชน์จากเขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนได้แก่ กระดาษและเยื่อกระดาษ เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนยานยนต์ ดังนั้น ภาครัฐจำเป็นต้องเร่งทำความเข้าใจและอำนวยความสะดวกให้ผู้ประกอบการให้ใช้สิทธิ์การลดภาษีในกรอบความร่วมมือดังกล่าว โดยภาคเอกชนจำเป็นต้องเตรียมข้อมูลในเรื่องแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อประกอบการยื่นขอลดภาษีจากฝ่ายจีน

ในด้านการนำเข้า จีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าสำคัญลำดับสองของไทยรองจากญี่ปุ่น โดยการนำเข้าเพิ่มขึ้นในอัตราสูงอย่างต่อเนื่องร้อยละ 22.56 และร้อยละ 35.73 ในปี 2546 และ 2547 ตามลำดับ สำหรับในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 การนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 42.87 ทำให้สัดส่วนการนำเข้าจากจีนเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากร้อยละ 8.00 ของการนำเข้าทั้งหมดในปี 2546 เป็นร้อยละ 8.91 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 โดยสินค้านำเข้าสำคัญของไทยจากจีนส่วนใหญ่ประกอบด้วยสินค้าสินค้าทุน/วัตถุดิบและสินค้าอุปโภคบริโภคบางชนิด โดยราวสามในสี่ของสินค้านำเข้าทั้งหมดมาจากสินค้าเพียง 10 ชนิด ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรกล เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะ เครื่องใช้ไฟฟ้า ผ้าผืน เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และเครื่องเพชรพลอย/ทอง โดยในปี 2547 และช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 การนำเข้าสินค้าเหล่านี้ของไทยเพิ่มขึ้นทุกรายการยกเว้นเครื่องเพชรพลอย/ทองซึ่งลดลงเล็กน้อยในช่วงสองเดือนแรกของปีนี้

สรุป

แม้ว่าแนวโน้มการนำเข้าของจีนในปี 2548 จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลง และยอดการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนในช่วงสองเดือนแรกของปี 2548 จะเพิ่มขึ้นไม่ถึงร้อยละ 5 อันเป็นผลมาจากการหดตัวของการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์หลายชนิด แต่ตัวเลขการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมหลัก ๆ ยังคงเพิ่มขึ้นในอัตราสูง ดังนั้นไทยจึงยังมีความหวังที่จะขยายการส่งออกไปจีนโดยรักษาการเติบโตของสินค้าอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าการส่งออกสูงโดยเฉพาะสินค้าทุนและชิ้นส่วนสินค้าอุตสาหกรรม รวมทั้ง ขยายการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่จะได้อานิสงส์จากการลดภาษีสินค้าอุตสาหกรรมภายใต้เขตการค้าเสรีอาเซียน-จีนซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นในกลางปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ