Display mode (Doesn't show in master page preview)

10 พฤษภาคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่น : ผลกระทบการลงทุนไทย

คะแนนเฉลี่ย

การประชุมสุดยอดระหว่างประธานาธิบดีหู จิ่นเทาของจีนและนายกรัฐมนตรีจุนอิชิโร โคอิซูมิของญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2005 ได้ช่วยลดความตึงเครียดระหว่างจีน-ญี่ปุ่นลงบ้างแล้ว แต่ความสัมพันธ์ในอนาคตระหว่างจีนและญี่ปุ่นยังจำเป็นต้องฟื้นฟูอย่างจริงจัง เนื่องจากในด้านหนึ่งจีนและญี่ปุ่นเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดจนทำให้ต่างฝ่ายต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกัน แต่ในอีกด้านหนึ่งทั้งสองประเทศกำลังแข่งขันกันที่จะแสดงบทบาทผู้นำทางด้านต่างประเทศและเศรษฐกิจในเอเชีย ซึ่งลักษณะความสัมพันธ์ทั้งสองมิติดังกล่าวจะเอื้อให้ญี่ปุ่นคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนควบคู่ไปกับการขยายความสัมพันธ์ทางการค้า/การลงทุนกับจีน ซึ่งไทยจะเป็นประเทศอาเซียนในลำดับต้น ๆ ที่ญี่ปุ่นจะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นในระยะยาว

ปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมืองจีน-ญี่ปุ่นเกิดขึ้นควบคู่ไปกับพัฒนาการความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในด้านการลงทุนและการค้า ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนในจีนอันดับต้น ๆ รองจากชาวจีนโพ้นทะเล (รวมถึงฮ่องกง ไต้หวันและมาเก๊า) และสหรัฐฯ โดยการลงทุนสะสมของญี่ปุ่นในจีนมีมูลค่าถึง 66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากโครงการทั้งหมดกว่า 30,000 โครงการ ส่วนในด้านการค้า ญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของจีน โดยจีนเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับหนึ่งของญี่ปุ่น นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังเป็นประเทศที่ให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจกับจีนสูงสุดด้วยมูลค่าความช่วยเหลือกว่า 20 พันล้านดอลลาร์ ในปี 2002 และ 2003 ญี่ปุ่นเป็นแหล่งที่มาของเงินลงทุนอันดับสามในจีนรองจากฮ่องกงและหมู่เกาะเวอร์จินส์ ด้วยปริมาณการลงทุน 4,190 ล้านดอลลาร์ และ 5,054 ล้านดอลลาร์ ตามลำดับ ทั้งนี้ นักลงทุนญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในจีนเพื่อป้อนสู่ตลาดญี่ปุ่นเอง ทำให้การค้าระหว่างสองประเทศเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในด้านการค้า ปัจจุบันจีนและญี่ปุ่นต่างเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของกันและกัน โดยญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าอันดับหนึ่งของจีน แต่เป็นตลาดส่งออกอันดับ 4 (รองจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรปและฮ่องกง) โดยในปี 2004 จีนนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นมูลค่า 94.37 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.3 คิดเป็นสัดส่วนการนำเข้าทั้งหมดร้อยละ 16.8 และจีนส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นมูลค่า 73.51 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 โดยตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 12.4 ของตลาดส่งออกทั้งหมดของจีน ทั้งนี้ การนำเข้าของจีนจากญี่ปุ่นมีการเติบโตอย่างมากตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1990s เป็นต้นมา โดยจีนนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคและสินค้าอุตสาหกรรมจำนวนมากจากญี่ปุ่น

อย่างไรก็ตาม แม้ว่า ผลกระทบทางเศรษฐกิจในระยสั้นจากปัญหาความสัมพันธ์จีน-ญี่ปุ่นจะค่อนข้างจำกัด แต่ปัญหาความสัมพันธ์ทางการเมืองและการแข่งขันทางยุทธศาสตร์ทำให้ญี่ปุ่นกังวลต่อสถานภาพในอนาคตของตนในจีนเป็นอย่างมาก ความกังวลข้างต้น กอปรกับความเข้มข้นของการแข่งขันเพื่อสู่ความเป็นผู้นำในภูมิภาคในอนาคตของจีนและญี่ปุ่น อาจส่งผลในระยะยาวให้ญี่ปุ่นยังคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนควบคู่กับจีนต่อไป โดยในปี 2004 ฐานการผลิตของอุตสาหกรรมหลัก ๆ ของญี่ปุ่นได้แก่ เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ในอาเซียนและจีนมีขนาดทัดเทียมกันโดยมีจำนวนรวม 1,157 แห่งในอาเซียนและ 1,105 แห่งในจีน

ประเทศที่คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากการคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนของญี่ปุ่นลำดับต้น ๆ คือประเทศไทย เวียดนามและอินโดนีเซีย จากรายงานของ Japan Bank for International Cooperation (JBIC) เมื่อปี 2004 พบว่าเป้าหมายการลงทุนในระยะกลางประมาณ 3 ปีข้างหน้าของนักลงทุนญี่ปุ่นพบว่าไทยอยู่ในอันดับต้น ๆ ของแหล่งน่าลงทุนที่สุดในโลกสำหรับนักลงทุนญี่ปุ่น โดยการสำรวจในช่วงปี 2001-03 พบว่าจีนครองอันดับหนึ่งมาโดยตลอด ตามด้วยไทยซึ่งเลื่อนจากอันดับ 3 ในปี 2001 เป็นลำดับ 2 ในปี 2002-03 โดยในปี 2003 นอกจากไทยแล้ว ประเทศอาเซียนที่ญี่ปุ่นสนใจลงทุนคือเวียดนาม (อันดับ 4) และอินโดนีเซีย (อันดับ 6) ทั้งนี้ การสำรวจรายอุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภทหลัก (เคมีภัณฑ์ เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์) ก็สอดคล้องกันโดยไทยครองอันดับ 2 ของเป้าหมายการลงทุนสำหรับอุตสาหกรรมทั้ง 4 ประเภท จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าไทยจะได้รับอานิสงส์อย่างมากจากนโยบายคงฐานการผลิตภาคอุตสาหกรรมในอาเซียนควบคู่ไปกับจีน

เมื่อพิจารณาตัวเลขการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของญี่ปุ่นในไทยจะพบว่าสอดคล้องกับแนวโน้มการลงทุนข้างต้นด้วย โดยนักลงทุนญี่ปุ่นยังคงให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง โครงการลงทุนของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นจากจำนวน 316 โครงการในปี 2003 เป็นจำนวน 340 โครงการในปี 2004 และในช่วงไตรมาสแรกของปี 2005 จำนวนโครงการลงทุนของญี่ปุ่นยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 103 โครงการจากเดิม 85 โครงการในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา แม้ว่ามูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนได้เพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยในปี 2004 เป็น 101,856 ล้านบาทจาก 106,374 ล้านบาทในปี 2003 (เนื่องจากโครงการลงทุนที่เป็นกิจการขนาดกลางและขนาดย่อมประเภทโรงงานผลิตชิ้นส่วนอุตสาหกรรมเข้ามามากขึ้นหลังจากที่โรงงานขนาดใหญ่เข้ามาตั้งฐานการผลิตในไทยจำนวนมากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา) แต่ในช่วงไตรมาสแรกของปี 2005 มูลค่าของโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดถึงร้อยละ 81.96 เป็นมูลค่า 95,817 ล้านบาทเนื่องจากมีโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมต้นน้ำและอุตสาหกรรมยานยนต์ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนเข้ามา คาดว่าการลงทุนของญี่ปุ่นในประเทศไทยในปี 2005-06 จะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ