Display mode (Doesn't show in master page preview)

27 กรกฎาคม 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จีนใช้ระบบตะกร้าเงิน : สาเหตุ & แนวโน้มการค้า-ท่องเที่ยว-ลงทุนของไทย

คะแนนเฉลี่ย

ปัจจัยสำคัญที่โน้มน้าวให้ทางการจีนยุติการตรึงค่าเงินหยวนและหันมาใช้ระบบตะกร้าเงินแทน ในวันที่ 21 กรกฎาคม 2548 ได้แก่
  • ต้องการลดความร้อนแรงของเศรษฐกิจจีน ทางการจีนได้พยายามใช้มาตรการต่างๆตลอดปี 2547 เพื่อชะลอเศรษฐกิจของประเทศให้ขยายตัวในอัตราเฉลี่ยราว 8% แต่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจยังไม่มีท่าทีว่าจะคลายความร้อนแรงลงแต่อย่างใด ด้วยอัตราเพิ่ม 9.4% และ 9.5% ในช่วงไตรมาสที่ 1 และที่ 2 ของปี 2548 ตามลำดับ
  • ต้องการลดกระแสกีดกันการค้า จีนโดนประเทศคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯและอียูบีบคั้นให้ปล่อยค่าเงินหยวนยืดหยุ่น ล่าสุดสหรัฐฯได้เตรียมผ่านร่างกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีน ด้วยเหตุผลที่ว่าจีนใช้มาตรการอัตราแลกเปลี่ยนเงินหยวนเอาเปรียบทางการค้ากับสหรัฐฯ
  • ต้องการเสริมบทบาทผู้นำเศรษฐกิจโลก การปล่อยให้ค่าเงินหยวนยืดหยุ่นขึ้นช่วยทำให้ผู้ประกอบการค้าขาย นักลงทุน หรือแม้แต่รัฐบาลของประเทศต่างๆ สามารถกำหนดเป้าหมายและมาตรการเศรษฐกิจในระยะต่อไปได้รัดกุมมากขึ้น โดยไม่ต้องพะวงและคาดกันว่าทางการจีนจะปรับค่าเงินหยวนช่วงไหน

ผลกระทบเศรษฐกิจไทย

1. ผลกระทบการค้าไทย

- สินค้าไทยส่งออกไปจีนเพิ่มขึ้น ลดยอดขาดดุลการค้ากับจีน - คาดว่าการที่เงินหยวนมีค่าแข็งขึ้น น่าจะส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีน เนื่องจากผู้นำเข้าชาวจีนและผู้บริโภคจะเห็นว่าสินค้าจากต่างประเทศมีราคาถูกลง อาจกระตุ้นให้มีการนำเข้าจากไทยเพิ่ม โดยเฉพาะสินค้าจำพวกวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ขณะเดียวกันการที่ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มแข็งขึ้น จะทำให้ไทยชะลอการนำเข้าสินค้าบางรายการจากจีน เนื่องจากสินค้าที่นำเข้าจากจีนจะมีราคาแพงขึ้น ซึ่งจะช่วยบรรเทายอด ขาดดุลการค้าของไทยกับจีนที่สูงถึง 1,263 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2548

- สินค้าไทยแข่งขันกับสินค้าจีนในตลาดโลก ขึ้นกับคุณภาพ - คาดว่าผลกระทบเบื้องต้นจากการที่ค่าเงินหยวนและค่าเงินบาทแข็งขึ้น ไม่น่าจะทำให้สินค้าจีนและสินค้าไทยที่ส่งออกไปขายแข่งขันกันในตลาดต่างประเทศ มีความได้เปรียบหรือเสียเปรียบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนนักในระยะสั้น สำหรับในระยะยาว คาดว่าสินค้าส่งออกไทยจะได้รับอานิสงส์เต็มที่จากการที่เงินหยวนของจีนมีค่าแข็งขึ้นก็ต่อเมื่อเงินหยวนแข็งค่าขึ้นประมาณ 15-20% ขณะเดียวกันประเด็นที่ผู้ส่งออกไทยต้องคำนึงถึงและเร่งรัดจัดการอย่างจริงจัง ก็คือ การปรับปรุงและรักษาคุณภาพสินค้าให้ได้มาตรฐานสากล เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยอย่างยั่งยืน

2. ผลกระทบท่องเที่ยวไทย

- นักท่องเที่ยวจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้น การที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้นส่งผลให้คนจีนมีกำลังซื้อสูงขึ้นแม้ไม่มากนักสำหรับการปรับขึ้นในระยะแรก แต่ก็ทำให้คนจีนรู้สึกว่าราคาแพ็กเกจทัวร์ถูกลงกว่าเดิม ส่งผลเอื้ออำนวยให้คนจีนเดินทางไปต่างประเทศมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์จากการขยายตลาดท่องเที่ยวต่างประเทศของนักท่องเที่ยวจีนมากน้อยเพียงใดนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างสิ่งดึงดูด นักท่องเที่ยวจีน ภายใต้ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่งที่เพิ่มขึ้น ทั้งยุโรป ออสเตรเลีย และ แอฟริกา รวมทั้งการเร่งแก้ไขปัญหาทัวร์ศูนย์เหรียญ และการเร่งสร้างความมั่นใจด้านความปลอดภัยในการเดินทางมาเที่ยวแถบอันดามัน

สำหรับแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวจีนในปี 2548 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางมายังประเทศไทยประมาณ 800,000 คน เพิ่มขึ้น 2.7% เมื่อเทียบกับปี 2547 ที่มีนักท่องเที่ยวจากจีนเดินทางเข้ามารวมทั้งสิ้น 779,070 คน และสร้างรายได้ด้านการท่องเที่ยวเข้าประเทศเพิ่มขึ้น 7% โดยมีมูลค่าประมาณ 21,000 ล้านบาท

3. ผลกระทบด้านการลงทุน

- แนวโน้มทุนจีนไหลเข้าไทยระยะยาว คาดว่าในระยะสั้น ผลกระทบต่อการ ลงทุนของจีนในประเทศไทยจากการที่เงินหยวนแข็งค่าขึ้น ยังไม่เห็นผลชัดเจนในทันที เพราะ โครงการลงทุนต่างๆ ต้องใช้เวลาในการวางแผนการลงทุนและประเมินความเป็นไปได้ของการลงทุนในแต่ละโครงการ สำหรับในระยะยาว มีแนวโน้มที่เงินหยวนจะปรับแข็งค่าขึ้นเรื่อยๆ จึงคาดว่านักลงทุนชาวจีนและผู้ประกอบการชาวจีนน่าจะขยายการลงทุนมายังประเทศไทยเพิ่มขึ้น เพราะค่าเงินหยวนที่เข้มแข็งจะช่วยให้นักลงทุนชาวจีนสามารถประหยัดเงินลงทุนในต่างประเทศได้บางส่วน ประกอบกับทางการจีนมีนโยบายส่งเสริมให้ชาวจีนออกไปลงทุนในต่างประเทศอยู่แล้ว เพื่อแสวงหาแหล่งวัตถุดิบและขยายตลาด ส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งทางการไทยมีแผนการพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ (Megaproject) ในช่วง 4-5 ปีข้างหน้า ล้วนดึงดูดให้นักลงทุนจีนสนใจจะร่วมลงทุนในไทยมากขึ้น ทั้งนี้ จีนให้ความสำคัญกับการลงทุนในประเทศไทย ในฐานะที่ไทยเป็นศูนย์กลางเชิงยุทธศาสตร์ที่จะเชื่อมโยงการค้าและการลงทุนระหว่างจีนกับประเทศในกลุ่มอาเซียน นอกเหนือจากการลงทุนโดยตรงแล้ว ทางการไทยยังมีมาตรการที่จะจูงใจให้นักลงทุนจีนเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นของไทยอีกด้วย น่าจะเป็นผลดีอีกประการหนึ่งแก่ตลาดหุ้นไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ