Display mode (Doesn't show in master page preview)

8 เมษายน 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

FTA ไทย-สหรัฐฯ รอบที่ 3 ... เจรจารอบคอบ เพื่อประโยชน์โดยรวม

คะแนนเฉลี่ย

การเจรจา FTA ไทย-สหรัฐฯ ดำเนินมาถึงรอบที่ 3 ระหว่างวันที่ 4-8 เมษายน 2548 ณ เมืองพัทยา แม้ว่าการเจรจาครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นการแลกเปลี่ยนความเห็น/ข้อมูลในประเด็นต่างๆ เพื่อกำหนดกรอบการเจรจา ซึ่งยังไม่ได้ลงลึกถึงขั้นการเจรจาเพื่อเปิดตลาด แต่นับว่าเป็นภารกิจหนักของฝ่ายไทยที่ต้องเตรียมรับมือต่อแรงกดดันของสหรัฐฯ ที่มีอำนาจต่อรองสูง บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่า ประเด็นที่ฝ่ายไทยต้องพิจารณาเป็นพิเศษในการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ดังนี้ -
  1. ประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา สหรัฐฯ ต้องการให้ไทยขยายความคุ้มครองด้านทรัพย์สินทางปัญญาให้มากกว่าข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้องค์การการค้าโลก หรือที่เรียกว่า "TRIP Plus" โดยรวมถึงการขยายความคุ้มครองสิทธิบัตรยาจากเดิมระยะเวลาการคุ้มครองผลิตภัณฑ์ยา 20 ปี เป็น 25 ปี และการที่ยาทุกชนิดต้องมีสิทธิบัตรทำให้ราคายาแพงขึ้น ส่งผลให้การเข้าถึงยาเป็นไปได้ยากขึ้น ซึ่งจะกระทบต่อประชาชนในวงกว้าง และทางการไทยจะต้องแบกรับภาระค่ายารักษาโรคแพงขึ้นในการจัดสรรงบประมาณค่ารักษาพยาบาลให้แก่ประชาชนภายใต้โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (30 บาทรักษาทุกโรค)
  2. การเพิ่มมาตรฐานด้านการคุ้มครองแรงงานและการปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับที่สูงมากจนทัดเทียมระดับเดียวกับกฎหมายด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมของสหรัฐฯ จะทำให้ต้นทุนการผลิตของไทยสูงขึ้น กระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันของไทยในที่สุด
  3. สหรัฐฯ พยายามกดดันให้ไทยยกเลิกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) เพื่อต้องการเข้าสู่ตลาดสินค้าและบริการของไทยให้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกันสหรัฐฯ เองก็มีการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าในรูปแบบต่างๆ เช่น การเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) ระเบียบการติดฉลากอาหารที่เข้มงวด มาตรฐานด้านแรงงานและสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด และการอุดหนุนภายในประเทศแก่ภาคการเกษตรและอุดหนุนการส่งออกสินค้าเกษตรของตน ทำให้สินค้าจากประเทศอื่นๆ แข่งขันได้ยากขึ้น และกระทบต่อราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกให้ตกต่ำลงด้วย ดังนั้น การเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ฝ่ายไทยจึงควรเจรจาลดอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีเหล่านี้ เพื่อให้สินค้าไทยเข้าสู่ตลาดสหรัฐฯ ได้ง่ายขึ้น เช่น การจัดทำมาตรฐานสุขอนามัยที่ยอมรับร่วมกัน (MRA) สำหรับสินค้าอาหาร ผักผลไม้ เป็นต้น

นอกจากนี้ การเจรจากับสหรัฐฯ ควรใช้เวลาในการพิจารณาอย่างรอบคอบ ไม่ควรมีเงื่อนไขข้อจำกัดด้านเวลา และเนื่องจากการจัดทำ FTA จะต้องมีฝ่ายที่ได้รับประโยชน์และฝ่ายที่เสียประโยชน์ จึงควรให้ประชาชนรับรู้ข้อมูลการเจรจาและมีส่วนร่วมในการ เสนอแนะอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดประโยชน์มากที่สุดและส่งผลเสียน้อยที่สุด

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ