Display mode (Doesn't show in master page preview)

2 มิถุนายน 2548

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ไทยเยือนอินเดีย & ภูฏาน : สานสัมพันธ์ - ผลักดัน FTA

คะแนนเฉลี่ย

อินเดียและภูฏาน เป็นประเทศในเอเชียใต้ที่กำลังมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจ โดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจค่อนข้างสูงและเติบโตอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งกำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนทั่วโลกในฐานะเป็นแหล่งดึงดูดการลงทุนที่สำคัญอันดับต้นๆ เนื่องจาก แรงงานมีคุณภาพและค่าแรงงานต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับการว่าจ้างแรงงานประเภทเดียวกันในประเทศอื่นๆ และมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี
  • การค้าไทย-อินเดีย - แม้มูลค่าการค้าไทย-อินเดีย (ส่งออก+นำเข้า) ค่อนข้างน้อย โดยมีสัดส่วนประมาณ 1% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด แต่มูลค่าการค้าก็เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 800.2 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2542 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 0.7% ของการค้าระหว่างประเทศของไทย เพิ่มขึ้น 156% เป็น 2,049 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2547 และไทยค้ากับอินเดียมากที่สุดในเอเชียใต้คิดเป็นสัดส่วนราว 70% ของมูลค่าการค้าทั้งหมดของไทยกับเอเชียใต้

    มีแนวโน้มว่าในปี 2548 มูลค่าการค้าระหว่างไทย-อินเดียจะเพิ่มขึ้น และไทยน่าจะเกินดุลการค้ากับอินเดียเป็นปีแรก เนื่องจากช่วง 4 เดือนแรกของปี 2548 โดยการส่งออกไปอินเดียขยายตัวถึง 105.46% จาก 245.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ใน 4 เดือนแรกปี 2547 เป็น 504.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนการนำเข้าของไทยจากอินเดียขยายตัว 3.10% มูลค่า 471.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับ 4 เดือนแรกปี 2547 ที่ไทยนำเข้าจากอินเดียมูลค่า 457.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับอินเดียใน 4 เดือนแรกของปี 2548 มูลค่า 32.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบกับยอดขาดดุลการค้า 212.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงเดียวกันของปี 2547

    สาเหตุที่ไทยขยายสินค้าส่งออกไปอินเดียมาก และทำให้ดุลการค้าของไทยจากเดิมที่ขาดดุลกับอินเดียกลับเกินดุลการค้ากับอินเดียตั้งแต่ต้นปี 2548 ส่วนหนึ่งเพราะการลดภาษีศุลกากรระหว่างกันภายใต้การจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดีย โดยได้ เริ่มต้นลดภาษีสินค้าบางรายการ (Early Harvest Scheme : EHS) รวม 82 รายการ ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2547 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปอินเดียช่วง 4 เดือนแรกนี้ที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ น้ำมันดิบ เม็ดพลาสติก เครื่องยนต์สันดาปภายในแบบลูกสูบและส่วนประกอบ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ เครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล ยางพารา และอัญมณีและเครื่องประดับ
  • การค้าไทย-ภูฏาน - แม้ว่ามูลค่าการค้าไทย-ภูฏาน (ส่งออก+นำเข้า) ค่อนข้างน้อย (สัดส่วนไม่ถึง 1% ของการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด) แต่ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับภูฏานมาโดยตลอด สินค้าที่ไทยส่งออกไปภูฏาน ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน สายไฟฟ้า สายเคเบิ้ล และเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารในครัวและบ้านเรือน เป็นต้น คาดว่าการค้า การลงทุนและการ ท่องเที่ยวไป-มาระหว่างกันจะเพิ่มขึ้นจากการหารือเพื่อกระชับความสัมพันธ์ในการเยือนระดับผู้นำครั้งนี้ นอกจากนี้ จากการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีภายในกลุ่ม BIMST-EC (Bay of Bengal Initiative for Multi-Sectoral Technical and Economic Cooperation) ซึ่งไทยและภูฏานเป็นสมาชิกร่วมกับชาติอื่นๆ อีก 5 ประเทศ จะช่วยกระตุ้นความสัมพันธ์ทั้งด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันให้ขยายตัวขึ้นในอนาคต

    บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เห็นว่าความร่วมมือและการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับอินเดียและภูฏานภายใต้กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจ BIMST-EC และกรอบทวิภาคี โดยเฉพาะการจัดทำ FTA ไทย-อินเดีย จะส่งผลดีต่อไทย ดังนี้
  • แหล่งวัตถุดิบในการผลิตสินค้าส่งออกที่สำคัญของไทย เช่น เพชรพลอย อัญมณี เหล็กและเศษโลหะ เคมีภัณฑ์ และอาหารทะเล เป็นต้น การลดภาษีของกลุ่ม BIMST-EC จะทำให้ต้นทุนวัตถุดิบของไทยต่ำลง เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้สินค้าส่งออกไทยในตลาดโลก
  • ตลาดส่งออกใหม่ของไทย เพื่อขยายตลาดสินค้าส่งออกของไทย และลดการขาดดุลการค้าที่กำลังเป็นปัญหาอยู่ในขณะนี้ นอกเหนือจากการพึ่งพาการส่งออกไปยังตลาดหลักเดิม ซึ่งไทยมักประสบอุปสรรคทางการค้าจากประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้มาตรการเก็บภาษีต่อต้านการทุ่มตลาด (Anti-Dumping : AD) หรือมาตรฐานด้านสุขอนามัยพืชและสัตว์ (Sanitary and Phytosanitary Measure : SPS) ที่เข้มงวด

การที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีเดินทางไปเยือนอินเดียและภูฏานระหว่างวันที่ 3-6 มิถุนายน 2548 ครั้งนี้ นอกจากจะกระตุ้นให้การค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างกันขยายตัว และเป็นช่องทางกระจายสินค้าส่งออกไทยไปสู่ภูมิภาคเอเชียใต้แล้ว ยังเป็นการผลักดันให้การเจรจาเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดียเกิดผลคืบหน้าและเสร็จสิ้นตามเป้าหมายในปี 2548

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ