Display mode (Doesn't show in master page preview)

4 มกราคม 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจจีนปี 2548-49 : แรงหนุนส่งออกไทย

คะแนนเฉลี่ย

จีนได้ก้าวขึ้นเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่อันดับ 4 ของโลกเมื่อสิ้นปี 2548 อันเป็นผลมาจากการเติบโตทางเศรษฐกิจกว่าร้อยละ 9 กอปรกับเงินหยวนที่แข็งค่าขึ้น พลังทางเศรษฐกิจของจีนส่งผลอย่างมากต่อภาวะการค้าระหว่างประเทศและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย เนื่องจากการค้าไทย-จีนมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว จนทำให้จีนขยับขึ้นเป็นตลาดส่งออกอันดับ 3 และแหล่งนำเข้าอันดับ 2 ของไทยในปัจจุบัน ดังนั้น การเข้าใจแนวโน้มทางเศรษฐกิจตลอดจนทิศทางการค้าระหว่างประเทศของจีน จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการประเมินลู่ทางการค้าระหว่างไทย-จีน รวมทั้งผลกระทบต่อสภาวะทางเศรษฐกิจของไทยในปี 2549

เศรษฐกิจจีนในปี 2548 มีการเติบโตอย่างสมดุลและไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อ โดยการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปี 2548 ได้รับแรงผลักดันจากการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากการลงทุน การบริโภคในประเทศและการค้าระหว่างประเทศ คาดว่า GDP ในปี 2548 จะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยตลอดทั้งปีที่ร้อยละ 9.4 การส่งออกของจีนยังสามารถขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 32.8 ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2548 ขณะที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ 17.8 เป็นมูลค่าการส่งออก 354.2 พันล้านดอลลาร์และการนำเข้า 310.9 พันล้านดอลลาร์ตามลำดับ ทำให้จีนเกินดุลการค้ากว่า 40 พันล้านดอลลาร์

สำหรับในปี 2549 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัวในอัตราที่ชะลอตัวลงเล็กน้อยจากปี 2548 มาอยู่ที่ร้อยละ 9.0-9.5 เนื่องจากการส่งออกอาจขยายตัวลดลงสวนทางกับการเติบโตของการนำเข้า จากผลของค่าเงินหยวนที่มีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นจาก 8.03 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2548 เป็น 7.85 หยวนต่อหนึ่งดอลลาร์ในปลายปี 2549 กอปรกับรายได้ต่อหัวของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วทำให้การบริโภคสินค้านำเข้าเพิ่มมากขึ้น ทั้งนี้ คาดว่ายอดส่งออกจะขยายตัวลดลงจากร้อยละ 28.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.0-25.0 ในปี 2549 ส่วนการนำเข้าจะเติบโตเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 16.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 20.0-25.0 ในปี 2549 ทำให้จีนได้เปรียบดุลการค้าลดลง อย่างไรก็ตาม เงินทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนจะยังคงเพิ่มขึ้นแม้จะในอัตราที่ลดลงจากร้อยละ 38.0 ในปี 2548 เป็นร้อยละ 25.0 ในปี 2549 หรือเพิ่มขึ้นจากประมาณ 840 พันล้านดอลลาร์ในช่วงสิ้นปี 2548 เป็น 1,050 พันล้านดอลลาร์ในปลายปี 2549

ในแง่โครงสร้างการส่งออกของไทยไปจีน เป็นที่น่าสังเกตว่ามีการกระจุกตัวของสินค้าส่งออกที่ 10 อันดับแรกถึงกว่าร้อยละ 70 ของสินค้าส่งออกทั้งหมด ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ยางพารา เม็ดพลาสติก น้ำมันดิบ เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เหล็กและผลิตภัณฑ์ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ และ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว ทั้งนี้ สินค้าส่งออกอันดับหนึ่งคืออุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบโดยเฉพาะ Hard Disk Drives (HDD) เป็นสินค้าส่งออกหลักที่มีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 1 ใน 4 ของมูลค่าการส่งออกไปจีนทั้งหมด สินค้าส่งออกหลักอื่น ๆ ที่มีแนวโน้มการขยายตัวอย่างต่อเนื่องคือเม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า ไม้ยาง ก๊าซปิโตรเลียมเหลว เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยางและผลไม้ โดยเม็ดพลาสติกและมันสำปะหลังมีการขยายตัวของการส่งออกอย่างโดดเด่น ในทางตรงกันข้าม สินค้าส่งออกที่มีแนวโน้มการส่งออกชะลอตัวลงชัดเจนคือยางพาราและข้าว

ในด้านการนำเข้า กว่าร้อยละ 80 ของสินค้านำเข้าจากจีนเป็นสินค้าอุตสาหกรรมประเภทสินค้าทุน วัตถุดิบการผลิตและสินค้าอุปโภคบริโภค โดยสินค้านำเข้า 5 รายการแรก ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์/อุปกรณ์ เหล็ก เครื่องจักรกลและเคมีภัณฑ์มีมูลค่าการนำเข้ารวมกันเกือบร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าจากจีนทั้งหมด และเป็นสินค้าที่มีการขยายตัวของการนำเข้าสูง เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญของภาคอุตสาหกรรมของไทยที่กำลังเพิ่มกำลังการผลิตในปัจจุบัน สินค้าที่การนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดได้แก่ เหล็กและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และผลิตภัณฑ์โลหะ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ