Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

เศรษฐกิจญี่ปุ่น 2549 : พ้นภาวะเงินฝืด ผลดีต่อการค้าไทย

คะแนนเฉลี่ย

ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจอันดับสองของโลกรองจากสหรัฐอเมริกา และเป็นคู่ค้าตลอดจนนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย เศรษฐกิจของญี่ปุ่นมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยในปี 2548 GDP ของญี่ปุ่นเติบโตร้อยละ 2.7 หลังจากที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ในปี 2547 การขยายตัวทางเศรษฐกิจดังกล่าวเป็นการฟื้นตัวระยะยาวของญี่ปุ่น หลังเกิดภาวะฟองสบู่และปัญหาการชะงักงันทางเศรษฐกิจในช่วงทศวรรษก่อนหน้านั้น การขยายตัวทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นในปัจจุบันเป็นการขยายตัวต่อเนื่องจากอุปสงค์และอุปทานภาคเอกชน บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าในปี 2549 เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะก้าวข้ามภาวะเงินฝืดและเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ทำให้แนวโน้มการบริโภคและการลงทุนเติบโตอย่างต่อเนื่อง และภาคการค้าระหว่างประเทศโดยเฉพาะการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งจะเป็นแรงหนุนการส่งออกและการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทย

เศรษฐกิจญี่ปุ่นปี 2548-49

ปี 2548 เป็นปีที่ญี่ปุ่นประสบปัญหาท้าทายจากวิกฤตน้ำมัน ภัยธรรมชาติ การยุบสภาและปัญหาเงินฝืดที่กินเวลานานหลายปี แต่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นสามารถเติบโตร้อยละ 2.7 อันเป็นผลมาจากการขยายตัวของการลงทุนภาคเอกชนถึงร้อยละ 7.8 การลงทุนดังกล่าวทำให้เกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นอันส่งผลทางจิตวิทยาให้ชาวญี่ปุ่นหันมาบริโภคสินค้าและบริการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น จนทำให้การบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 นอกจากนี้ การส่งออกยังขยายตัวในอัตราร้อยละ 5.9 จากการเติบโตทางเศรษฐกิจในอัตราสูงของสหรัฐฯ และจีนซึ่งเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่งและสองของญี่ปุ่น ทำให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของญี่ปุ่นเกินดุลเพิ่มขึ้นร้อยละ 18

สำหรับแนวโน้มในปี 2006 บ.ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าเศรษฐกิจของญี่ปุ่นจะเติบโตอย่างมีเสถียรภาพในอัตราร้อยละ 2.3 ใกล้เคียงกับการเติบโตในช่วงปี 2547-48 เนื่องจากการขยายตัวของการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องจากภาวะการจ้างงานและอัตราค่าจ้างที่เพิ่มสูงขึ้น โดยการว่างงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2549 ลดลงเหลือร้อยละ 4.1 ซึ่งเป็นอัตราต่ำที่สุดในรอบ 7 ปี นอกจากนี้ คาดว่าอุปสงค์ที่อยู่อาศัยจะขยายตัวต่อเนื่องอีกหลายปี เนื่องจากชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นรุ่นลูกของ baby boomers กำลังอยู่ในวัยเริ่มซื้อบ้านหลังแรกจำนวนมาก ทำให้ราคาที่ดินในญี่ปุ่นเริ่มขยับตัวสูงขึ้น นอกจากเศรษฐกิจในประเทศแล้ว การส่งออกสินค้าและบริการยังมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราสูงเนื่องจากคาดว่าการเติบโตของจีน สหรัฐฯ และประเทศ Emerging Economies ในปี 2549 จะมีอัตราใกล้เคียงกับปี 2548 นอกจากนี้ ปี 2549 ยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านที่สำคัญของเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากเป็นปีที่สิ้นสุดภาวะเงินฝืด (deflation) ซึ่งต่อเนื่องมานานหลายปี คาดว่าในปี 2549 ดัชนีราคาผู้บริโภคจะเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 0.4 จากที่เคยเป็นอัตราร้อยละ 0.0 ในปี 2547 และ -0.3 ในปี 2548 คาดว่าในปีงบประมาณ 2550 (เมษายน 2549-มีนาคม 2550) ธนาคารกลางของญี่ปุ่นอาจยกเลิกนโยบายตรึงอัตราดอกเบี้ยที่ศูนย์และหันมาปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้น

การค้าไทย-ญี่ปุ่น

เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นคู่ค้าและนักลงทุนอันดับหนึ่งของไทย ดังนั้น การเติบโตทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างมีเสถียรภาพในระยะ 2-3 ปีข้างหน้า จึงน่าจะส่งผลดีต่อการค้ากับไทย ในปี 2548 ยอดส่งออกของไทยไปญี่ปุ่นมีมูลค่า 15,156.40 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.28 ทั้งนี้ ตลาดญี่ปุ่นมีสัดส่วนร้อยละ 13-14 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย ใกล้เคียงกับตลาดสหรัฐฯ ซึ่งเป็นตลาดส่งออกอันดับหนึ่งที่มีสัดส่วนราวร้อยละ 15

ในด้านการส่งออก สินค้าส่งออกของไทยไปญี่ปุ่น 20 อันดับแรกมีสัดส่วนรวมกันร้อยละ 55.65 ของมูลค่าการส่งออกรวมในปี 2548 สินค้าส่งออกสำคัญของไทยที่ขยายตัวได้ดีในญี่ปุ่นในปี 2548-49 ประกอบด้วยแผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ยางพารา รถยนต์และส่วนประกอบ เลนซ์กล้องถ่ายรูป เครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เครื่องปรับอากาศ และเครื่องโทรศัพท์/โทรสาร ทั้งนี้ สินค้าส่งออกที่ขยายตัวสูงเกินกว่าร้อยละ 30 ในปี 2548 ได้แก่เครื่องปรับอากาศ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องโทรศัพท์/โทรสารและไก่แปรรูป ส่วนในช่วงต้นปี 2549 สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้นเกินกว่าร้อยละ 30 ประกอบด้วย ยางพารา และเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบ สรุปได้ว่า สินค้าประเภทอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง (advanced technologies) ที่มักเป็นการลงทุนข้ามชาติและสินค้าที่ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเป็นวัตถุดิบ (resource-based industries) นั้น ไทยยังสามารถขยายการส่งออกไปยังญี่ปุ่นได้อย่างต่อเนื่อง

ในด้านการนำเข้า ญี่ปุ่นเป็นแหล่งนำเข้าสินค้าอันดับหนึ่งของไทย ในปี 2548 ไทยนำเข้าสินค้าจากญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.92 จาก 22,293.8 ล้านดอลลาร์เป็น 26,065.7 ล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 22 ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย แสดงให้เห็นถึงการพึ่งพิงการนำเข้าจากญี่ปุ่นในอัตราสูง สินค้าหลักที่ไทยนำเข้าจากญี่ปุ่นประกอบด้วยสินค้าทุนและวัตถุดิบสำหรับภาคอุตสาหกรรม สินค้านำเข้า 10 รายการแรกประกอบด้วยเครื่องจักรกล เหล็กและผลิตภัณฑ์ เครื่องจักรไฟฟ้า แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ ส่วนประกอบยานยนต์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ สินแร่โลหะและผลิตภัณฑ์โลหะ ทั้ง 10 รายการมีสัดส่วนรวมกันกว่าร้อยละ 80 ของมูลค่าการนำเข้าจากญี่ปุ่นทั้งหมดในปี 2548 โดยสินค้าในกลุ่มนี้ มีแนวโน้มการนำเข้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

ในอนาคต ปัจจัยที่สำคัญที่จะมีผลต่อการค้าไทย-ญี่ปุ่นคือข้อตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจระหว่างไทย-ญี่ปุ่น (JTEP) ที่ครอบคลุมการจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวิภาคีไทย-ญี่ปุ่น ทั้งสองประเทศได้เจรจาจนบรรลุข้อตกลงระหว่างกันและเดิมกำหนดที่จะลงนามข้อตกลงดังกล่าวในเดือนเมษายน 2549 ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศจำนวนมาก โดยคาดว่าการส่งออกสินค้าเกษตรอุตสาหกรรมและสินค้าที่ใช้แรงงานเข้มข้นของไทยและการนำเข้าสินค้าทุนและปัจจัยการผลิตภาคอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นจะเพิ่มขึ้นอีกมาก อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองของไทยทำให้การจัดทำข้อตกลงดังกล่าวต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด รัฐบาลใหม่ของไทยในอนาคตจะเป็นผู้กำหนดท่าทีในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ