Display mode (Doesn't show in master page preview)

31 สิงหาคม 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การค้าไทย – ญี่ปุ่น ซบเซา : พ่ายอิทธิพลสินค้าจีน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1898)

คะแนนเฉลี่ย
ในบรรดาตลาดส่งออกดั้งเดิมของไทย 4 ตลาด ปรากฏว่าญี่ปุ่นเป็นตลาดที่น่าเป็นห่วงและควรเร่งฟื้นฟูการส่งออกในช่วงเวลาที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากการส่งออกของไทยไปยังตลาดญี่ปุ่นเงียบเหงาที่สุดในกลุ่มประเทศคู่ค้าดั้งเดิม โดยมีอัตราเพิ่มขึ้น 5.6% เป็นมูลค่า 9,192 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เทียบกับอัตราเติบโตเฉลี่ย 11.8% ในช่วงเดียวกันของปี 2548 ทั้งๆ ที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องในช่วงครึ่งแรกของปี 2549 โดยมีอัตราการขยายตัว 3.5% และ 2.2% ในไตรมาสแรก และไตรมาสที่ 2 ตามลำดับ ทั้งนี้ ประมาณการว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นจะขยายตัวในอัตรา 2.8% ในปี 2549 เทียบกับอัตราเติบโต 2.6% ในปี 2548 นับเป็นอัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงสุดของญี่ปุ่นในรอบ 7 ปี
สถานการณ์การส่งออกสินค้าไทยไปญี่ปุ่นที่อึมครึมลงในปีนี้ สาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งเนื่องจากสินค้าไทยเผชิญการแข่งขันรุนแรงกับสินค้าจีนในตลาดญี่ปุ่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าประเภทเครื่องรับวิทยุ-โทรทัศน์ อุปกรณ์โทรคมนาคม เสื้อผ้าสำเร็จรูป กระเป๋า เฟอร์นิเจอร์ รวมทั้งสินค้าบริโภคจำพวกปลาและผัก ซึ่งเป็นสินค้าที่ญี่ปุ่นหันไปนำเข้าจากจีนเพิ่มขึ้นมาก เป็นผลมาจากการที่ญี่ปุ่นเข้าไปลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตสินค้าในจีนจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา เพื่ออาศัยค่าจ้างแรงงานราคาถูกและต้นทุนวัตถุดิบในประเทศจีนที่ค่อนข้างต่ำ บัดนี้ โรงงานของญี่ปุ่นในจีนเริ่มลงมือผลิตสินค้าและทยอยส่งสินค้าเหล่านั้นกลับไปขายในตลาดญี่ปุ่น ส่งผลให้มูลค่านำเข้าสินค้าจากจีนพุ่งขึ้นรวดเร็วในช่วง 5-6 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ทำเลที่ตั้งที่ใกล้ชิดกันระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศจีน ช่วยเอื้ออำนวยต่อการขนส่งสินค้าระหว่างกันให้คล่องตัวและสะดวกยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน ญี่ปุ่นจัดเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับ 2 ของจีน รองจากฮ่องกง โดยมีมูลค่าเงินลงทุนสะสม 55,849 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2549 คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 8.5% ของมูลค่าเงินลงทุนจากต่างประเทศสะสมทั้งหมดของจีน โครงการลงทุนของญี่ปุ่นในจีน ส่วนใหญ่ ได้แก่ การลงทุนผลิตสินค้าอุตสาหกรรม เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ฯลฯ โครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจต่างๆ เช่น โรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าและน้ำประปา ระบบการขนส่ง โกดังสินค้า ระบบโทรคมนาคม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สินค้าไทยบางรายการที่สามารถส่งออกไปยังตลาดญี่ปุ่นได้เพิ่มขึ้นในปีนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าชั้นนำของไทยที่มีความได้เปรียบด้านการส่งออก และเป็นสินค้าที่มิได้แข่งขันกับสินค้าจีนโดยตรง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์-อุปกรณ์และส่วนประกอบ เลนส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์อลูมิเนียม เป็นต้น แต่ประเด็นที่น่าเป็นห่วง ก็คือ หากในอนาคตจีนสามารถพัฒนาการผลิตสินค้าที่หลากหลายมากขึ้น รวมทั้งผลิตสินค้าคล้ายคลึงกับสินค้าที่ไทยมีความได้เปรียบดังกล่าว ก็มีแนวโน้มว่าไทยอาจจะสูญเสียตลาดญี่ปุ่นให้แก่สินค้าจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น ไทยจำเป็นต้องใช้กลยุทธ์ด้านคุณภาพสินค้าเป็นจุดแข็งเพื่อสร้างความเชื่อถือในตลาดญี่ปุ่น ตลอดจนเพิ่มความหลากหลายของสินค้าไทย พร้อมเติมเอกลักษณ์ความเป็นไทย เพื่อให้แตกต่างจากสินค้าจีน โดยเฉพาะสินค้ากลุ่ม OTOP ชั้นนำของไทย ซึ่งน่าจะจับตลาด high-end ของผู้บริโภคชาวญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี ทั้งนี้เพื่อรักษาส่วนแบ่งในตลาดญี่ปุ่นไว้
แม้ว่าไทยยังคงพึ่งพาตลาดส่งออกดั้งเดิม ได้แก่ อาเซียน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ยมากกว่า 60% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทยในแต่ละปี แต่ท่ามกลางภาวะการแข่งขันจากประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่อย่างจีน อินเดีย และเวียดนาม ประเทศไทยจำเป็นต้องขยายการส่งออกไปยังตลาดส่งออกใหม่อื่นๆควบคู่ไปด้วย เพื่อกระจายความเสี่ยงด้านการส่งออกของประเทศ ปัจจุบัน การส่งออกสินค้าไทยไปยังตลาดใหม่มีสัดส่วนสูงขึ้นอยู่ในระดับราว 38% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมดของไทย เทียบกับสัดส่วนเฉลี่ยประมาณ 28% ในช่วง 5 ปีก่อนหน้านี้ อีกทั้ง การส่งออกไปยังตลาดส่งออกใหม่ของไทยมีอัตราเพิ่มขึ้นถึง 25.9% ในช่วง 7 เดือนแรก 2549 เทียบกับการส่งออกไปยังตลาดดั้งเดิมเพิ่มขึ้นราว 11.6% ดังนั้น การเจาะตลาดส่งออกใหม่ของไทยจึงเป็นมาตรการที่ประสบความสำเร็จในระดับหนึ่งแล้ว เพราะมีส่วนเกื้อหนุนการส่งออกโดยรวมของประเทศในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ หากไทยสามารถขยายการส่งออกไปยังตลาดใหม่ในภูมิภาคต่างๆให้เติบโตพร้อมเพรียงกัน ก็มีแนวโน้มว่าตลาดเหล่านี้จะเป็นประตูการค้าบานใหม่ที่ช่วยสร้างเครือข่ายการส่งออกของไทยให้กว้างขวางยิ่งขึ้นในอนาคตอันใกล้

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ