Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 ตุลาคม 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

อาเซียน-จีน : สานต่อความสัมพันธ์ 15 ปี … ทวีความใกล้ชิดทางเศรษฐกิจ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1911)

คะแนนเฉลี่ย
พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมการประชุมผู้นำระหว่างประเทศอาเซียนกับจีน (ASEAN-China Commemorative Summit) ในระหว่างวันที่ 30-31 ตุลาคม 2549 ณ นครหนานหนิง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในโอกาสความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียนและจีนครบรอบ 15 ปี นับว่าเป็นการเดินทางเข้าร่วมประชุมระดับผู้นำครั้งแรกหลังเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของไทย
ด้านเศรษฐกิจ จีนเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของอาเซียนในปัจจุบันและมีแนวโน้มว่าจะมีบทบาทต่ออาเซียนเพิ่มขึ้นในอนาคต เพื่อลดการพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ที่เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในปี 2550 ในขณะที่เศรษฐกิจของจีนมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่องด้วยตัวเลข 2 หลัก ตั้งแต่ปี 2546 เป็นต้นมา นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนยังเติบโตอย่างแข็งแกร่ง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีเงินทุนสำรองต่างประเทศมากเป็นอันดับ 1 ของโลก จากการส่งออกสินค้าของจีนที่เติบโตเฉลี่ยถึง 30% ต่อปีในระหว่างปี 2545-2548 ทำให้ดุลการค้าเกินดุลติดต่อกันหลายปี
จีนเป็นประเทศแรกที่อาเซียนลงนามจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ด้วย แม้ว่าในขณะนี้ความตกลง FTA ฉบับนี้ครอบคลุมเฉพาะการค้าสินค้า แต่อาเซียนและจีนตั้งเป้าหมายให้ขยายไปสู่การเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนในอนาคต คาดว่าการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนจะได้ข้อสรุปและเสนอต่อที่ประชุมผู้นำอาเซียน-จีนในเดือนธันวาคม ศกนี้ ณ เมืองเซบู ประเทศฟิลิปปินส์ จะส่งผลให้อาเซียนและจีนเป็นเขตการค้าเสรีที่ครอบคลุมทุกๆ ด้านภายในปี 2553
ความตกลง FTA อาเซียน-จีน นี้ได้เริ่มมีผลบังคับใช้โดยการลดภาษีสินค้าระหว่าง 2 ฝ่าย ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 ส่งผลให้มูลค่าการค้าระหว่างกันเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลกระทรวงพาณิชย์ของจีน ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2549 มูลค่าการค้าอาเซียน-จีนรวม 100,940 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้คาดว่ามูลค่าการค้าระหว่างอาเซียนกับจีน (ส่งออก+นำเข้า) น่าจะเพิ่มขึ้นเท่าตัวหรือมีมูลค่ามากกว่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2553 เนื่องจากจีนและประเทศสมาชิกอาเซียนเดิม 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และบรูไนฯ จะต้องลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่ราวกว่า 90% ให้เหลือในอัตรา 0-5% ภายในปี 2553 ส่วนประเทศจีนและประเทศสมาชิกใหม่อาเซียน 4 ประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม จะลดภาษีสินค้าส่วนใหญ่เหลือ 0-5% ในปี 2558 ทั้งนี้ในบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน สิงคโปร์มีมูลค่าการค้ากับจีนมากที่สุด รองลงมา ได้แก่ มาเลเซีย ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย ตามลำดับ
การค้าระหว่างไทย-จีน - ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2549 ไทยขาดดุลการค้ากับจีน 67,570 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากช่วงเดียวกันปี 2548 ที่มียอดขาดดุลการค้า 69,585 ล้านบาท เนื่องจากการชะลอตัวของการนำเข้าของไทยจากจีนที่เพิ่มขึ้น 16.7% เทียบกับปี 2548 ที่ขยายตัวถึง 36% สาเหตุที่ไทยขาดดุลการค้ากับจีนมาโดยตลอด โดยเฉพาะหลังจากการดำเนินการลดภาษีภายใต้ FTA อาเซียน-จีน เนื่องจากสินค้านำเข้าส่วนใหญ่ของไทยจากจีนเป็นสินค้าทุน (สัดส่วน 45% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทยจากจีน) ที่สำคัญ ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ส่วนสินค้าวัตถุดิบ/ กึ่งสำเร็จรูป ไทยนำเข้าจากจีนคิดเป็นสัดส่วน 40% ของการนำเข้าทั้งหมดของไทย ที่สำคัญ ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก/เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์
แม้ไทยได้รับผลดีจากการลดภาษีของไทยให้กับสินค้านำเข้าจากจีนที่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบและสินค้าทุนต่ำลง แต่ผู้ประกอบการไทยที่ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคหลายประเภทได้รับผลกระทบจากการถูกสินค้าจีนตีตลาด เนื่องจากสินค้าจีนราคาถูกและได้รับการลด/ยกเว้นภาษีศุลกากรนำเข้ามาไทย ทำให้มีศักยภาพการแข่งขันด้านราคาในไทยมากขึ้น ที่สำคัญ เช่น รองเท้าเครื่องหนัง สิ่งทอ และเสื้อผ้า
ด้านการส่งออกของไทยไปจีน แม้การส่งออกของไทยไปจีนขยายตัวอย่างต่อเนื่อง แต่สินค้าส่งออกไทยไปจีนส่วนใหญ่เป็นสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางซึ่งมีมูลค่าเพิ่มต่ำ ซึ่งจีนนำเข้าสินค้าเหล่านี้จากไทยเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบผลิตสินค้า ยิ่งไปกว่านั้น สินค้าส่งออกที่มีศักยภาพของไทย ได้แก่ ข้าวและยางพารา ยังไม่ได้รับประโยชน์จากการลดภาษีของจีนภายใต้ FTA อาเซียน-จีน เนื่องจากสินค้าดังกล่าวอยู่ในกลุ่มสินค้าอ่อนไหวสูงของจีน จึงใช้เวลาลดภาษีนาน 7-10 ปี รวมทั้งต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าชนิดเดียวกันของประเทศอาเซียนในตลาดจีน ได้แก่ ยางพาราจากมาเลเซียและอินโดนีเซีย และข้าวจากเวียดนาม ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมส่งออกของไทยยังต้องเผชิญกับการแข่งขันกับสินค้าส่งออกจากประเทศอาเซียนเช่นกัน เช่น สินค้าคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบจากสิงคโปร์ มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ ดังนั้น ผู้ประกอบการไทยที่มีตลาดภายในประเทศ และผู้ประกอบการส่งออกสินค้าไทยไปจีนจึงต้องปรับตัวอย่างหนักต่อการแข่งขันกับสินค้านำเข้าจากจีน และกับสินค้าส่งออกของประเทศอาเซียนด้วยกันเองในตลาดจีน
' จากแนวโน้มที่จีนจะต้องเปิดประเทศรับนักลงทุนต่างประเทศในธุรกิจภาคบริการมากขึ้นตามข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนระหว่างอาเซียนกับจีนที่อยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่สำคัญในเดือนธันวาคม 2549 นี้ ส่งผลให้ธุรกิจไทยมีโอกาสเข้าไปจัดตั้งธุรกิจให้บริการในจีนมากขึ้น จากการลดข้อจำกัดและกฎระเบียบด้านการลงทุนจัดตั้งธุรกิจของจีน จึงมีแนวโน้มที่ธุรกิจไทยที่มีศักยภาพ เช่น ธุรกิจนำเที่ยว ทัวร์สุขภาพ (Health Tourism) ธุรกิจสปา ร้านอาหาร และโรงแรม เป็นต้น จะมีโอกาสสดใสในการเข้าไปจัดตั้งธุรกิจให้บริการดังกล่าวในจีนมากขึ้น เนื่องจากอำนาจซื้อของคนชั้นกลางจีนที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เกิดความต้องการเดินทางท่องเที่ยวพักผ่อนทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งความต้องการใช้บริการด้านสุขภาพและความงาม สร้างโอกาสการทำกำไรจากการประกอบธุรกิจดังกล่าว และนำรายได้กลับเข้าประเทศเพิ่มขึ้น ส่งเสริมให้เกิดการขยายตัวของรายได้จากการส่งออกภาคบริการของไทย เพื่อชดเชยกับการขาดดุลการค้าสินค้าของไทยกับจีนที่มีมูลค่าขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในจีนปี 2548 ราว 120 ล้านคน เพิ่มขึ้น 10% จากปี 2548 สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าจีนราว 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 ส่วนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางไปท่องเที่ยวต่างประเทศในปัจจุบันมีจำนวนปีละราว 31 ล้านคน ขณะนี้นักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาประเทศอาเซียนในแต่ละปีมีจำนวนราว 3 ล้านคน ถือว่านักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมายังอาเซียนมีจำนวนมากเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น สำหรับนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทยในปี 2548 มีจำนวนราว 780,000 คน และในช่วง 3 เดือนแรกปี 2549 มีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาไทย จำนวน 278,343 คน เพิ่มขึ้นถึง 130% จากช่วงเดียวกันปี 2548 นับว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวเมืองไทยมีอัตราการขยายตัวสูงที่สุดในช่วง 3 เดือนแรกปี 2549 เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่นๆ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ