Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤศจิกายน 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

APEC & WTO : หนุนเศรษฐกิจเวียดนาม 2550 ดาวเด่นแห่งอาเซียน (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1917)

คะแนนเฉลี่ย
เวียดนามดำเนินยุทธศาสตร์การรวมตัวเข้ากับประชาคมโลกทั้งการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Trading Arrangement : RTA) ได้แก่ เอเปค และอาเซียน และระดับพหุภาคี ได้แก่ WTO รวมทั้งวางแผนจัดทำเขตการค้าเสรี (FTA) ทวิภาคีกับญี่ปุ่น ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเจรจาจัดทำ FTA ในปี 2550
- ในปี 2549 เวียดนามแสดงให้ชาวโลกเห็นถึงศักยภาพและความพร้อมของประเทศในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือเอเปค (Asia-Pacific Economic Cooperation : APEC) ในระหว่างวันที่ 18-19 พฤศจิกายน 2549 ที่ผู้นำเอเปครวม 21 ประเทศ[1] มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปค มีกำหนดเดินทางเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปค (APEC Summit) ณ กรุงฮานอย ประเทศเวียดนาม รวมทั้งการประชุมของภาคธุรกิจชั้นนำของเอเปค (APEC CEO Summit) ที่จะจัดขึ้นในช่วงเดียวกันนี้ พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรีของไทย มีกำหนดเข้าร่วมประชุมผู้นำเอเปคครั้งสำคัญนี้ และกล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุม APEC CEO ในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2549 เพื่อชี้แจงให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าใจแนวทางการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจพอเพียงของไทยในปัจจุบัน
เอเปคเป็นกลุ่มเศรษฐกิจสำคัญเนื่องจากขนาดเศรษฐกิจของกลุ่มเอเปคคิดเป็นสัดส่วนถึง 57% ของขนาดเศรษฐกิจโลก และมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของกลุ่มเอเปคคิดเป็นสัดส่วนราว 45% ของการค้าโลก จึงเป็นพลังขับเคลื่อนการเจรจาการค้าโลกของ WTO รอบโดฮา (Doha Development Agenda : DDA) ซึ่งถือเป็นรูปแบบการเปิดเสรีทางการค้าที่ดีที่สุด เพราะหากการเจรจาประสบผลสำเร็จจะก่อให้เกิดผลผูกพันในการเปิดตลาดกับประเทศสมาชิก WTO รวมถึง 150 ประเทศ นอกจากนี้ การดำเนินการเปิดเสรีทางการค้าและการลงทุนของเอเปค การอำนวยความสะดวกทางการค้า และเป้าหมายการลดต้นทุนทางการค้าลง 5% ภายในปี 2553 จะช่วยกระตุ้นให้เกิดการขยายตัวทางการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค และเป็นประโยชน์กับภาคธุรกิจของประเทศเอเปค โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (SMEs) ที่มีต้นทุนการค้าระหว่างประเทศต่ำลง
- เวียดนามได้รับการรับรองจาก WTO ให้เข้าเป็นสมาชิก WTO ในวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 และคาดว่าเวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิก WTO อย่างสมบูรณ์ในเดือนมกราคม 2550 จะสร้างโอกาสให้สินค้าส่งออกของเวียดนามขยายตัวในตลาดของประเทศสมาชิก WTO ได้มากขึ้น จากการลดภาษีศุลกากรของประเทศคู่ค้า สินค้าส่งออกสำคัญของเวียดนามที่มีแนวโน้มสดใส ได้แก่ เสื้อผ้า/สิ่งทอ รองเท้า สินค้าประมง ไม้และผลิตภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์/อิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบ นอกจากนี้การเปิดตลาดภาคบริการและการลงทุนของเวียดนาม คาดว่าจะดึงดูดเงินลงทุนทางตรงจากต่างประเทศ (FDI) เข้ามาในเวียดนามมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการจ้างงานและยกระดับรายได้ของประชาชนเวียดนาม
ขณะเดียวกันต้นทุนของการเข้าเป็นสมาชิก WTO คือ เวียดนามต้องเปิดตลาดสินค้า ภาคบริการและการลงทุนในประเทศให้กับประเทศสมาชิก WTO ส่งผลให้ผู้ประกอบการ/ภาคธุรกิจของเวียดนามต้องปรับตัวและเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับสินค้าต่างชาติที่เข้าสู่ตลาดเวียดนามได้มากขึ้นจากการลดภาษีศุลกากรของเวียดนาม ทำให้สินค้าเหล่านี้เข้ามาแข่งขันในเวียดนามได้ด้วยราคาที่ต่ำลง รวมถึงการแข่งขันของภาคธุรกิจเวียดนามกับธุรกิจบริการของต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในเวียดนามได้กว้างขวางยิ่งขึ้น
ทางการเวียดนามจำเป็นต้องเสริมสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับภาคธุรกิจเวียดนาม โดยเร่งสร้าง/ปรับปรุงกฎเกณฑ์และกฎระเบียบให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นและแข่งขันอย่างเป็นธรรม เพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุน โดยเฉพาะการส่งเสริมการแข่งขันระหว่างรัฐวิสาหกิจและภาคเอกชน เนื่องจากปัจจุบันเวียดนามมีรัฐวิสาหกิจกว่า 5,000 แห่ง ดำเนินการในธุรกิจบริการสาขาต่างๆ เช่น ภาคการเงิน โทรคมนาคม ขนส่ง พลังงาน และอุตสาหกรรม จึงไม่เกิดแรงจูงใจในการแข่งขัน และไม่เกิดประสิทธิภาพในการดำเนินงานเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การที่เวียดนามต้องปฏิบัติตามข้อตกลงของ WTO ด้านการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องสิ่งแวดล้อมและแรงงาน ส่งผลให้ภาคธุรกิจของเวียดนามมีต้นทุนการดำเนินงานที่สูงขึ้นจากการปฏิบัติตามมาตรฐานดังกล่าวที่อยู่ในระดับสูง ทางการเวียดนามควรให้ความรู้กับภาคธุรกิจ กระตุ้นให้เกิดการปรับตัวและเตรียมพร้อมรับมือกับกฎที่เข้มงวดเหล่านี้ในการดำเนินธุรกิจ ไม่เช่นนั้นอาจถูกมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี (NTBs) จากประเทศพัฒนาแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโป ที่มักใช้ประเด็นเรื่องการปกป้องและคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา การปกป้องสิ่งแวดล้อมและแรงงาน มาเชื่อมโยงกับการค้า ส่งผลให้สินค้าส่งออกของเวียดนามไปประเทศดังกล่าวอาจประสบอุปสรรคการค้า หากไม่ปฏิบัติตามข้อกฎระเบียบดังกล่าวของ WTO



[1]ได้แก่ ไทย สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย บรูไน แคนาดา ชิลี จีน ฮ่องกง อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย เม็กซิโก นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี เปรู เกาหลีใต้ ฟิลิปปินส์ รัสเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และเวียดนาม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ