Display mode (Doesn't show in master page preview)

23 พฤศจิกายน 2549

เศรษฐกิจต่างประเทศ

สินค้าเวียดนามแข่งขันสินค้าไทย : ต้อนรับ WTO 2550 (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 1900)

คะแนนเฉลี่ย

เวียดนามประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจอย่างงดงาม พร้อมกับก้าวสู่เวทีเศรษฐกิจและการค้าโลกเป็นของขวัญส่งท้ายปีนี้ คาดว่าเศรษฐกิจเวียดนามมีแนวโน้มสดใสต่อเนื่องในปี 2550 หลังจากที่เวียดนามเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) อย่างสมบูรณ์ในช่วงต้นปีหน้า ซึ่งจะส่งผลดีต่อสินค้าส่งออกของเวียดนามที่ได้รับการลดหย่อนภาษีขาเข้าจากประเทศคู่ค้า ภายใต้กรอบ WTO เพิ่มความได้เปรียบแก่สินค้าเวียดนามในตลาดโลกมากขึ้น คาดว่าการส่งออกของเวียดนามมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ยประมาณ 20% ในปีหน้า เทียบกับเป้าหมายอัตราขยายตัวของการส่งออก 19% ในปี 2549 นับเป็นการส่งออกของเวียดนามเติบโตในอัตราค่อนข้างสูงติดต่อกัน ขณะที่การส่งออกของไทย มีแนวโน้มขยายตัวในอัตราประมาณ 12%-15% ในปี 2550 ชะลอลงเมื่อเทียบกับตัวเลขประมาณอัตราขยายตัวของการส่งออกราว 17% ในปีนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่าสินค้าส่งออกเวียดนามที่มีศักยภาพในการแข่งขันกับสินค้าไทย แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มสินค้าที่เวียดนามได้เปรียบสินค้าไทยอยู่แล้ว และกลุ่มสินค้าที่ไทยควรระวัง สรุปได้ดังนี้

- สินค้าเวียดนามที่ได้เปรียบสินค้าไทย : สินค้าส่งออกของเวียดนามหลายรายการแข่งขันได้เปรียบสินค้าไทยอยู่เดิมก่อนที่เวียดนามจะเข้าเป็นสมาชิก WTO และเมื่อเวียดนามเข้าเป็นสมาชิก WTO เรียบร้อยแล้ว สินค้าเวียดนามจะยิ่งได้เปรียบสินค้าไทยมากขึ้น เพราะบรรดาสมาชิก WTO ที่เป็นประเทศคู่ค้าของเวียดนามจะเปิดตลาดให้แก่สินค้าเวียดนาม ยกเลิกโควตา และปรับลดอัตราภาษีขาเข้าให้แก่สินค้าเวียดนาม สินค้าที่เวียดนามได้เปรียบสินค้าไทยค่อนข้างชัดเจน ได้แก่ เสื้อผ้าสำเร็จรูป รองเท้า อาหารทะเล และผลิตภัณฑ์ไม้ เป็นสินค้าส่งออกสำคัญอันดับต้นๆ ของเวียดนาม ซึ่งแข่งขันกับไทยโดยตรง เพราะเป็นรายการสินค้าที่ไทยส่งออกไปจำหน่ายในตลาดโลกเช่นกัน

­ สินค้าที่ไทยควรระวัง : สินค้าส่งออกของเวียดนามอีกกลุ่มหนึ่งเป็นสินค้าที่มีศักยภาพ แม้ว่าจะยังสู้ไทยไม่ได้ในอนาคตอันใกล้ แต่ไทยก็ไม่ควรประมาท สินค้าดังกล่าว ได้แก่ สินค้าเกษตรกรรมและสินค้าอุตสาหกรรมบางประเภท เช่น ข้าว ยางพารา ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์พลาสติก

สถานการณ์การค้าโลกที่โน้มเอียงไปสู่การเปิดเสรีมากขึ้น ทั้งภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก และการเปิดเสรีทวิภาคีระหว่างประเทศคู่ค้าต่างๆ ส่งผลดีต่อการขยายตลาดสินค้าและบริการที่กว้างขวางยิ่งขึ้น แต่ขณะเดียวกันนำมาซึ่งการแข่งขันทางการค้าที่รุนแรงขึ้นเช่นกัน ในกรณีของประเทศไทยกับเวียดนาม ซึ่งส่งออกสินค้าคล้ายคลึงกันไปแข่งขันในตลาดโลก ประเทศทั้งสองจึงควรหันมาร่วมมือซึ่งกันและกัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้วยกันในตลาดโลก รวมทั้งช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ไทยและเวียดนามผลิตให้สูงขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ย้อนกลับไปสู่ประชาชนของแต่ละประเทศ และเศรษฐกิจโดยรวม

ทั้งนี้ ประเทศไทยและเวียดนามมีศักยภาพสูงทางด้านการผลิตสินค้าเกษตรและสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ซึ่งสามารถประสานความร่วมมือซึ่งกันและกัน ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนาอุตสาหกรรมประมง โดยอาศัยทรัพยากรสัตว์น้ำที่อุดมสมบูรณ์ของเวียดนาม ผนวกกับความเชี่ยวชาญในการผลิตอาหารทะเลแปรรูปของไทย น่าจะเป็นปัจจัยประกอบกันที่ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมประมงและอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารทะเลของทั้งสองประเทศให้พัฒนาก้าวหน้ายิ่งขึ้น นอกจากนี้ ประเทศไทยและเวียดนามมีลู่ทางที่จะร่วมมือกันพัฒนาพลังงานทดแทนจากพืชน้ำมัน เนื่องจากเวียดนามน่าจะสามารถเพาะปลูกพืชน้ำมันได้จำนวนมาก เพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตไบโอดีเซล โดยผสมผสานกับเทคโนโลยีของไทย คาดว่าจะช่วยให้การพัฒนาพลังงานทดแทนคืบหน้าเร็วขึ้น สำหรับใช้เป็นพลังงานสำรองอย่างจริงจัง

ยิ่งไปกว่านั้น การที่ประเทศไทยและเวียดนามมีจุดแข็งในฐานะประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่อันดับ 1 และอันดับ 2 ของโลก รวมทั้งมีความสามารถในการผลิตและส่งออกอาหาร ตลอดจนพืชผักและผลไม้ต่างๆ ประเทศทั้งสองน่าจะอาศัยจุดเด่นนี้ จัดทำกลยุทธ์มุ่งสู่การเป็น ;ครัวโลก” ร่วมกัน ซึ่งจะช่วยชูบทบาทสินค้าเกษตรของไทยและเวียดนามให้โดดเด่นในเวทีการค้าโลกต่อไป

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ