Display mode (Doesn't show in master page preview)

26 มกราคม 2550

เศรษฐกิจต่างประเทศ

จับตาสิงคโปร์ : ชาติอาเซียนลงทุนสูงสุดในไทย (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1945)

คะแนนเฉลี่ย
สิงคโปร์มีบทบาทสำคัญด้านการลงทุนในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งประเทศไทย ทั้งการลงทุนโดยตรง (FDI) และการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ ในปีที่ผ่านมาบริษัทเทมาเส็ก โฮสดิ้ง หน่วยงานด้านการลงทุนที่ทางการสิงคโปร์ถือหุ้น ได้เข้ามาลงทุนถือหุ้นในโรงพยาบาลขนาดใหญ่และบริษัทเทเลคอมของไทย รวมทั้งเข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยด้วยมูลค่าเงินลงทุนสุทธิ (Net Flow of Portfolio Investment) ถึง 3,446 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในช่วงระหว่างเดือนมกราคม – กันยายน 2549 คิดเป็นสัดส่วน 63% ของเงินลงทุนสุทธิของต่างชาติทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วงดังกล่าว นับว่าสิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนสุทธิในตลาดหลักทรัพย์ไทยมากที่สุดในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2549
สิงคโปร์เป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนโดยตรง (FDI) ในไทยเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่น และสหรัฐฯ และถือเป็นประเทศที่เข้ามาลงทุนในไทยมากเป็นอันดับ 1 ในบรรดาประเทศอาเซียน ในปีที่ผ่านมา สิงคโปร์ยื่นขออนุมัติโครงการลงทุนในไทยเพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนโครงการลงทุนและมูลค่าโครงการ จาก 82 โครงการ และมูลค่า 14,129 ล้านบาทในปี 2548 เป็น 86 โครงการ และมูลค่าเพิ่มขึ้น 100% เป็น 28,921 ล้านบาท ในปี 2549 ประเภทโครงการที่สิงคโปร์ยื่นขออนุมัติลงทุนมีมูลค่าสูงสุดในปี 2549 ได้แก่ เครื่องไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ มูลค่าโครงการ 14,549 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 226% จากมูลค่า 4,453 ล้านบาทในปี 2548 คิดเป็นสัดส่วนครึ่งหนึ่งของมูลค่าโครงการลงทุนที่ยื่นขออนุมัติส่งเสริมการลงทุนทั้งหมดของสิงคโปร์ในปี 2549 โครงการลงทุนประเภทอื่นๆ ของสิงคโปร์ในไทย ได้แก่ การลงทุนในธุรกิจบริการ โครงการเหล็กและเครื่องจักรกล และโครงการเคมีภัณฑ์และกระดาษ
สำหรับด้านการค้า สิงคโปร์เป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 4 ของไทย รองจาก ญี่ปุ่น จีน และสหรัฐอเมริกา และเป็นประเทศที่ไทยนำเข้ามากเป็นอันดับ 6 รองจากญี่ปุ่น จีน สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ไทยเป็นฝ่ายเกินดุลการค้ากับสิงคโปร์มาโดยตลอด มูลค่าการค้าไทย-สิงคโปร์ (ส่งออก+นำเข้า) เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวจากมูลค่าราว 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2541 เป็น 14,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 คิดเป็นสัดส่วนราว 5.4% ของการค้าระหว่างประเทศทั้งหมดของไทย ในขณะที่ไทยเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 9 ของสิงคโปร์ และหากพิจารณาเฉพาะประเทศในอาเซียน ไทยเป็นคู่ค้าอันดับ 3 ของสิงคโปร์ รองจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย โดยไทยเป็นตลาดส่งออกอันดับ 8 ของสิงคโปร์ และเป็นประเทศที่สิงคโปร์นำเข้ามากเป็นอันดับที่ 10
การส่งออกของไทยไปสิงคโปร์ขยายตัวราว 5.7% ในปี 2549 จากมูลค่าส่งออก 7,691 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548 เป็น 8,359 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ไทยนำเข้าจากสิงคโปร์ชะลอตัวลงในปี 2549 โดยขยายตัวราว 4.9% มูลค่า 5,647 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เทียบการนำเข้าของไทยจากสิงคโปร์ในปี 2548 ที่ขยายตัวเกือบ 30% ด้วยมูลค่านำเข้า 5,379 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ การนำเข้าของไทยจากสิงคโปร์ที่ชะลอตัวลงในปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปจากสิงคโปร์ลดลง 38% จากปี 2548 และการนำเข้าเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบของไทยจากสิงคโปร์ชะลอตัวลง โดยขยายตัว 48% ในปี 2549 จากที่เพิ่มขึ้นถึง 100% ในปี 2548 ส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้ากับสิงคโปร์มูลค่า 2,711 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 17.3% จากมูลค่าเกินดุลการค้า 2,311 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2548
ด้านการท่องเที่ยว สิงคโปร์เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คนไทยนิยมเดินทางไปท่องเที่ยวเป็นอันดับ 3 รองจากมาเลเซีย และจีน ตามลำดับ และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ขณะเดียวกัน ชาวสิงคโปร์เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในไทยมากเป็นอันดับ 4 รองจากมาเลเซีย ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ตามลำดับ และเป็นอันดับ 2 ในอาเซียน รองจากมาเลเซีย ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2549 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวสิงคโปร์ในไทยเพิ่มขึ้น 5.5% จาก 223,800 คน ในช่วงเดียวกันปี 2548 เป็น 236,030 คน จากทั้งปี 2548 นักท่องเที่ยวสิงคโปร์ทั้งหมดที่เดินทางมาไทยเกือบ 800,000 คน
ไทยและสิงคโปร์มีความสัมพันธ์ทางการลงทุน การค้า และการท่องเที่ยวมาอย่างยาวนาน เนื่องจากอยู่ในภูมิภาคเดียวกัน และต่างเป็นสมาชิกกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ตั้งแต่ปี 2510 และผู้นำอาเซียนประกาศเร่งรัดการจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community : AEC) เร็วขึ้น 5 ปี เป็นปี 2558 ทำให้ไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศอาเซียนอื่นๆ ต้องเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า ภาคบริการ การลงทุน และการเคลื่อนย้ายแรงงานอย่างสมบูรณ์ในอีก 8 ปีข้างหน้า (2558) รวมทั้งการเคลื่อนย้ายเงินทุนที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งประเทศอาเซียนอื่นๆ มีความเชื่อมโยงและรวมตัวกันมากขึ้นป็นลำดับ ศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่าเหตุการณ์ตอบโต้ทางการทูตของไทยต่อสิงคโปร์จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยวระหว่างไทยกับสิงคโปร์ในช่วงนี้ แต่หากเหตุการณ์ดังกล่าวคลี่คลายลงด้วยดีและกลับไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีโดยเร็ว จะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักธุรกิจของสองประเทศ และเสริมสร้างบรรยากาศที่ดีต่อการดำเนินธุรกิจระหว่างประเทศ ก่อให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจกับทั้งไทยและสิงคโปร์ รวมทั้งสร้างความแข็งแกร่งและความเป็นปึกแผ่นให้กับภูมิภาคอาเซียนด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ