Display mode (Doesn't show in master page preview)

24 สิงหาคม 2550

เศรษฐกิจต่างประเทศ

FTA ไทย-อินเดีย : เร่งใช้ประโยชน์ ส่งออก-ลงทุน ก่อนประเทศอื่นชิงความได้เปรียบจาก FTA (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 1990)

คะแนนเฉลี่ย
อินเดียเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่ภาครัฐและภาคเอกชนควรร่วมมือกันผลักดันให้สินค้าส่งออกของไทยขยายตัว เพื่อกระจายตลาดส่งออกของไทยและลดพึ่งพิงตลาดส่งออกหลักเดิมอย่างสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง สินค้าส่งออกของไทยมีโอกาสขยายตัวได้ดีในอินเดีย เพราะนอกจากผลดีจากการที่อินเดียเป็นตลาดใหญ่ที่มีกำลังซื้อแล้ว การจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับอินเดียได้ส่งผลดีจากการยกเลิกภาษีศุลกากรระหว่างกันของสินค้า 82 รายการ ในวันที่ 1 กันยายน 2549 หลังจากที่เริ่มต้นทยอยลดภาษีสินค้าดังกล่าวในวันที่ 1 กันยายน 2547 ส่งผลให้สินค้าส่งออกไทยขยายตัวอย่างต่อเนื่องในตลาดอินเดีย ถือเป็นตลาดส่งออกใหม่ที่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุดในช่วง 7 เดือนแรกของปี 2550 โดยเติบโตถึง 66% เทียบกับการส่งออกทั้งหมดของไทยในช่วงเดียวกันที่ขยายตัว 16.6% และการลดภาษีศุลกากรจะขยายไปสู่สินค้าปกติอีกราว 5,000 รายการ หลังจากที่การเจรจาทั้งสองฝ่ายได้ข้อยุติ จะส่งผลให้สินค้าส่งออกของไทยไปอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น ซึ่งคาดว่าน่าจะเริ่มดำเนินการลดภาษีสินค้าอีก 5,000 รายการได้ภายในปี 2551 ส่งผลให้มูลค่าการค้าไทย-อินเดียมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็น 5,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2551 จากมูลค่าการค้าไทย-อินเดีย 3,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2549 ทั้งนี้ ทางการไทยและอินเดียตั้งเป้าหมายให้การค้าระหว่างกันมีมูลค่า 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ภายในปี 2553-2554 นอกจากนี้ การค้าภาคบริการและการลงทุนจัดตั้งธุรกิจผลิตสินค้าและธุรกิจบริการระหว่างไทยกับอินเดียมีแนวโน้มขยายตัวในอนาคต จากการเปิดเสรีภาคบริการและการลงทุนที่ไทยและอินเดียอยู่ระหว่างการเจรจาเปิดเสรีในปัจจุบัน ซึ่งจะช่วยลดเงื่อนไข/กฎระเบียบด้านการลงทุนจัดตั้งธุรกิจของทั้งสองฝ่าย
อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า ภาคเอกชนไทยควรระวังและเตรียมพร้อมต่อการแข่งขัน เนื่องจากอินเดียอยู่ระหว่างเจรจาจัดทำ FTA ทั้งในระดับทวิภาคีกับประเทศต่างๆ ที่สำคัญ ได้แก่ ญี่ปุ่น และมาเลเซีย (สิงคโปร์ลงนามความตกลง FTA กับอินเดียในเดือนมิถุนายน 2548) และระดับภูมิภาคกับกลุ่มประเทศต่างๆ ได้แก่ กลุ่มประเทศอ่าว (6 ประเทศ) กลุ่มอาเซียน (10 ประเทศ) และสหภาพยุโรป (27 ประเทศ) รวมทั้งประเทศที่คาดว่าอินเดียจะเจรจาจัดทำ FTA ด้วยต่อไป ได้แก่ นิวซีแลนด์ จีน สหรัฐฯ บังคลาเทศ เวียดนาม และอิสราเอล ซึ่งประเทศคู่เจรจา FTA ต่างๆ เหล่านี้ของอินเดียล้วนเป็นประเทศคู่ค้าและคู่แข่งของไทย
การแข่งขันในตลาดอินเดีย - ผู้ส่งออกไทย/ธุรกิจไทยที่ผลิตสินค้าเพื่อจำหน่ายในอินเดีย และธุรกิจให้บริการของไทยที่จัดตั้งในอินเดีย จะต้องเตรียมพร้อมต่อการแข่งขันกับสินค้าส่งออกของประเทศที่อินเดียจัดทำ FTA ด้วยในตลาดอินเดีย หรือธุรกิจของประเทศคู่เจรจา FTA ของอินเดีย ที่เข้าไปลงทุนในอินเดีย เพื่อต้องการจำหน่ายสินค้า/ให้บริการในอินเดีย ซึ่งคาดหวังประโยชน์จากขนาดตลาดอินเดียที่ใหญ่และมีความต้องการบริโภคและลงทุนสูง

การแข่งขันในตลาดประเทศที่สาม - ผู้ส่งออกไทยที่ส่งออกสินค้าไปประเทศที่อินเดียจัดทำความตกลง FTA ด้วย หรือนักธุรกิจไทยที่ไปจัดตั้งธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการในประเทศที่อินเดียจัดทำ FTA ด้วย (ที่สำคัญ ได้แก่ ประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป) จะต้องแข่งขันกับสินค้าส่งออกของอินเดียที่มีราคาต่ำ และธุรกิจผลิตสินค้า/ธุรกิจบริการของอินเดียที่เข้าไปจัดตั้งในประเทศคู่เจรจา FTA นั้น ซึ่งธุรกิจของอินเดียจะได้รับความสะดวกมากขึ้นจากการลดเงื่อนไข/กฎระเบียบภาคบริการและการลงทุนภายใต้การจัดทำ FTA

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ