Display mode (Doesn't show in master page preview)

28 ธันวาคม 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

BREXIT Deal ความตกลงครั้งประวัติศาสตร์ … คลายแรงตึงเครียดทางเศรษฐกิจท่ามกลางปัญหาโควิด-19 ที่รุมเร้า (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3176)

คะแนนเฉลี่ย

​            ​ผ่านมากว่า 4 ปี นับตั้งแต่การทำประชามติของสหราชอาณาจักรเพื่อขอแยกตัวจากสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2559 ในที่สุดอังกฤษและ EU ก็สามารถบรรลุการเจรจาความตกลง (BREXIT Deal) ได้ก่อนจะสิ้นสุดเวลาเปลี่ยนผ่านความสัมพันธ์ในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 โดยหลังจากนี้คงต้องรอติดตามการให้สัตยาบันของรัฐสภาอังกฤษเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ แต่ในเบื้องต้นคาดว่าน่าเริ่มใช้ได้เป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 เป็นต้นไป

ใจความสำคัญหลักของความตกลงดังกล่าวหลังจาก BREXIT คือ อังกฤษจะหลุดออกจากการเป็นตลาดร่วม (Common Market) ของ EU แต่จะยังคงความสัมพันธ์ในด้านการค้าเสรีไว้เหมือนเดิม โดยที่ทั้งคู่ไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าและไม่มีการกำหนดโควตาการนำเข้าสินค้าระหว่างกัน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเกิดความตกลงดังกล่าวนับว่าช่วยคลายแรงตึงเครียดของธุรกิจและเศรษฐกิจของอังกฤษในปี 2564 ได้ในระดับหนึ่ง เพราะตัวอังกฤษเองต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจาก EU เป็นจำนวนมาก ขณะที่การถอนตัวออกมาของอังกฤษก็คงไม่ช่วยให้เศรษฐกิจของอังกฤษในระยะต่อไปเร่งตัวอย่างก้าวกระโดด หรือเปลี่ยนไปจากที่เป็นอยู่มากนัก เนื่องจากการแยกตัวออกจาก EU แม้อังกฤษจะสามารถดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจด้านต่างๆ ได้อย่างมีอิสระมากขึ้น แต่ก็ทำให้อังกฤษสูญเสียจุดเด่นที่เป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศไม่ว่าจะเป็นการเป็นศูนย์กลายการผลิตและการบริการ รวมทั้งสูญเสียสถานะการเป็นศูนย์กลางทางการเงินของภูมิภาคไปพร้อมกัน

          ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความตกลงที่เกิดขึ้นนี้ช่วยคลายปมเศรษฐกิจของอังกฤษบางประการ แต่ในปี 2564 ปัญหาหลักอย่างโควิด-19 ก็จะยังคงส่งผลฉุดการบริโภคและเศรษฐกิจของอังกฤษต่อเนื่องจากปีนี้ไปอีกอย่างน้อยครึ่งแรกของปี 2564 ซึ่งการส่งออกของไทยไปอังกฤษในปี 2564 มีแนวโน้มว่าน่าจะกระเตื้องขึ้นเพราะผลของฐานที่ต่ำในปีนี้เป็นหลัก โดยมีโอกาสเติบโตที่ใกล้เคียงร้อยละ 0-3 มีมูลค่าการส่งออกราว 3,080-3,180 ล้านดอลลาร์ฯ และมีเพียงสินค้าจำเป็นต่อการใช้ชีวิตยังมีโอกาสทำตลาดดีขึ้นในปีหน้า อาทิ ไก่แปรรูป ผลิตภัณฑ์ยาง ผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลี เครื่องปรุงรสอาหาร แต่สำหรับสินค้าอื่นๆ ที่สามารถชะลอการบริโภคออกไปได้คงต้องรอกำลังซื้อของอังกฤษให้ฟื้นกลับมา

(UK Global Tariff: UKGT) เป็นครั้งแรกในรอบ 40 กว่าปี มีกรอบอัตราภาษี MFN Rate สำหรับใช้กับประเทศสมาชิก WTO โดยโครงสร้างภาษี UKGT กำหนดให้อัตราภาษีสินค้าส่วนใหญ่ปรับลดลงจากที่เคยใช้ตอนเป็นสมาชิก EU เพื่อช่วยลดต้นทุนการบริโภคให้แก่ผู้บริโภคในประเทศ โดยสินค้านำเข้าประมาณร้อยละ 60 ไม่ต้องเสียภาษี อาทิ สินค้าวัตถุดิบเพื่อการผลิต สินค้าที่จำเป็นต่อการบริโภคหรือผลิตได้อย่างจำกัด สำหรับสินค้าที่ยังมีภาษีก็มีอัตราภาษีที่ต่ำลง ซึ่งสินค้าไทยที่ส่งไปอังกฤษก็ต้องใช้อัตราภาษีแบบใหม่นี้ โดยสินค้าไทยที่น่าจะได้ประโยชน์จากอัตราภาษีตามโครงสร้างภาษีใหม่ ได้แก่ ถุงมือยาง (ไม่รวมถุงมือทางการแพทย์) รถบรรทุก/รถกะบะ เครื่องประดับ เครื่องปรุงรสอาหาร และอาหารสัตว์เลี้ยงที่พร้อมจำหน่ายในร้านค้าปลีก

อย่างไรก็ดี การพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่าน FTA ก็ยังเป็นสิ่งที่ทางการไทยคงต้องให้ความสำคัญ ซึ่งถ้าหากในระยะข้างหน้าไทยสามารถจัดทำ FTA กับอังกฤษได้สำเร็จ ก็น่าจะเอื้อให้สินค้าไทยมีต้นทุนการนำเข้าสู่อังกฤษลดลงยิ่งขึ้นอีก และสินค้าไทยจะยังรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ โดยเฉพาะสินค้าอุตสาหกรรมของไทยน่าจะมีโอกาสร่วมเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตของอังกฤษได้มากขึ้นจากราคาสินค้าที่ต่ำลงเพราะการปรับลดภาษี 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ