Display mode (Doesn't show in master page preview)

9 พฤษภาคม 2566

เศรษฐกิจไทย

เปิดเทอมปี 2566 การใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน เพิ่มขึ้น 5.0% หรือมีมูลค่าประมาณ 28,500 ล้านบาท (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3407)

คะแนนเฉลี่ย

        เปิดภาคเรียนใหม่ในปี 2566 นี้ แม้กิจกรรมเศรษฐกิจจะขับเคลื่อนปกติ แต่ผลสำรวจ พบว่า ผู้ปกครองกว่า 68.5% มีความกังวลสภาพคล่องทางการเงินในการใช้จ่ายเพื่อการศึกษาของบุตรหลาน เนื่องจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังมองว่าสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้นมากนัก รายได้ยังไม่เหมือนเดิม ขณะที่ภาระรายจ่ายในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้น

        โดยกลุ่มที่มีความกังวลส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเปราะบาง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้มีรายได้น้อย-ปานกลาง (กลุ่มรายได้ต่ำกว่า 40,000 บาทต่อเดือน) และมีบุตรหลานในวัยเรียนมากกว่า 1 คน เนื่องจากการศึกษาเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับบุตรหลาน โดยผู้ปกครองส่วนใหญ่เลือกที่จะรับมือกับปัญหาด้วยการประหยัดค่าใช้จ่ายอื่นๆ เพื่อนำเงินมาใช้จ่ายเพื่อการศึกษา สำหรับกลุ่มตัวอย่างผู้ปกครองที่มีรายได้และเงินออมไม่เพียงพอเพื่อนำมาชำระค่าธรรมเนียมเพื่อการศึกษา รวมถึงใช้จ่ายในการซื้อชุดนักเรียน อุปกรณ์การเรียนและที่เกี่ยวเนื่องกับการเรียน ทำให้จำเป็นต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากการยืมญาติ/เพื่อน สินเชื่อจากสถาบันการเงิน โรงรับจำนำ รวมถึงการขอผ่อนผันหรือผ่อนชำระกับทางโรงเรียน

        และเนื่องจากในปีนี้ ค่าธรรมเนียมเพื่อการศึกษาบางแห่งปรับตัวสูงขึ้น เช่นเดียวกับราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลทำให้งบประมาณของผู้ปกครองเพื่อการใช้จ่ายด้านการศึกษาของบุตรหลานในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2566 เพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเปิดเทอมใหญ่ในปีที่ผ่านมา  โดย ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มูลค่าการใช้จ่ายในด้านการศึกษาสำหรับบุตรหลานของผู้ปกครองในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑลในช่วงเปิดเทอมใหญ่ปี 2566 นี้ อาจเพิ่มขึ้นประมาณ 5.0% เมื่อเทียบกับผลสำรวจในช่วงเดียวกันของปีก่อน หรือมีมูลค่าประมาณ 28,500 ล้านบาท

        การศึกษาเป็นสิ่งสำคัญของบุตรหลาน จากผลสำรวจ ผู้ปกครองส่วนใหญ่ต้องการเห็นนโยบายการศึกษาที่ชัดเจนและสามารถปฏิบัติได้เป็นรูปธรรมจากภาครัฐ  พร้อมกับการพัฒนาหลักสูตรการเรียนและเนื้อหาของบทเรียนให้ทันสมัย หรือสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต ภาครัฐควรมีการลงทุน/พัฒนาระบบการศึกษาให้มีความเท่าเทียมระหว่างในเมืองและชนบท และให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพและเพิ่มจำนวนครูผู้สอนในโรงเรียน

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย