Display mode (Doesn't show in master page preview)

15 มิถุนายน 2564

เศรษฐกิจต่างประเทศ

คาดเฟดยังคงดอกเบี้ยที่ระดับ 0.0-0.25% ในการประชุมวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้…ขณะที่ต้องติดตามประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3933)

คะแนนเฉลี่ย

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่าเฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.0-0.25% สำหรับการประชุมนโยบายการเงินที่จะมีขึ้นในวันที่ 15-16 มิ.ย. นี้ ทั้งนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อจะเร่งสูงขึ้น อย่างไรก็ดี การเร่งขึ้นของเงินเฟ้อมีสาเหตุมาจากการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลังการเปิดเมือง (Reopening) การชดเชยอุปสงค์ที่ค้างจากช่วงก่อนหน้า (Pent-up demand) ปัญหาคอขวดในห่วงโซ่อุปทาน (Supply chain bottlenecks) ประกอบกับปัจจัยฐานต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้าเป็นหลัก โดยปัจจัยบางตัวคงจะคลี่คลายลงได้ในระยะข้างหน้า ดังนั้น เงินเฟ้อคงจะเร่งสูงขึ้นเพียงชั่วคราวและทยอยปรับลดลงในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจยังไม่ส่งผลให้เกิดแรงกดดันเพียงพอที่จะทำให้เฟดจำเป็นต้องรีบถอนมาตรการผ่อนคลายทางการเงินในระยะอันใกล้ ขณะที่เฟดน่าจะยังคงให้น้ำหนักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจมากกว่าแรงกดดันจากเงินเฟ้อ ซึ่งจากตัวเลขตลาดแรงงานที่ออกมาล่าสุด สะท้อนให้เห็นว่าตลาดแรงงานยังคงมีความเปราะบางอยู่ และอาจจะใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะฟื้นตัวอย่างเต็มที่ตามเป้าหมายของเฟด

ในการประชุมครั้งนี้ เฟดจะมีการแถลงประมาณการเศรษฐกิจ ซึ่งประมาณการ GDP และเงินเฟ้อของเฟดจะบ่งชี้มุมมองของเฟดต่อภาวะเศรษฐกิจ และเป็นการส่งสัญญาณทิศทางนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในการประชุมนโยบายการเงินครั้งที่จะถึงนี้ เฟดน่าจะยังคงประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ รวมถึงประมาณการ Fed Dot Plot ใกล้เคียงเดิม หรือหากมีการปรับประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อสูงขึ้น คาดว่าแถลงการณ์ของนายเจอโรม พาวเวลจะออกมาในทิศทางที่ช่วยลดความกังวลของตลาดเกี่ยวกับการถอนนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และยังคงจุดยืนด้านนโยบายแบบผ่อนคลายไปจนถึงสิ้นปีนี้ ท่ามกลางความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่สูง

ทั้งนี้ ในช่วงเดือนที่ผ่านมา เฟดได้ทำการขายคืนพันธบัตรสู่ตลาดเงินผ่านการทำ Reverse Repo เพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากอุปสงค์ของ Reverse Repo Facilities พุ่งสูงขึ้น เนื่องจากกระทรวงการคลังสหรัฐฯ มีการเร่งเบิกจ่ายเงินกู้ผ่านการดึงเงินออกจากบัญชีเงินสดที่ฝากไว้กับเฟด หรือที่เรียกว่า Treasury General Account (TGA) ซึ่งการที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ดึงเงินสดออกจากบัญชี TGA จะส่งผลให้มีสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก และนำมาซึ่งความต้องการในการนำเงินไปพักใน Reverse Repo Facilities ซึ่งได้อัตราผลตอบแทนดีกว่าเมื่อเทียบกับทางเลือกอื่นๆ ที่มีอัตราดอกเบี้ยติดลบ ทั้งนี้ อุปสงค์ของ Reverse Repo Facilities ที่เพิ่มสูงขึ้น จะเป็นปัจจัยกดดันให้ราคาพันธบัตรเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลให้อัตราผลตอบแทนนั้นลดลง ท่ามกลางสภาพคล่องที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะยิ่งไปกระตุ้นเงินเฟ้อและราคาสินทรัพย์ให้เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เฟดจึงอาจเผชิญความท้าทายในการคงนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย และอาจจำเป็นต้องถอนนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลายในระยะข้างหน้า อีกทั้ง เฟดคงจำเป็นต้องปล่อยให้อัตราดอกเบี้ยปรับเพิ่มสูงขึ้นในท้ายที่สุด​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ