Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 มิถุนายน 2565

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุม FOMC วันที่ 14-15 มิ.ย. คาดเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 และคงจะส่งสัญญาณแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางตัวเลขเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3973)

คะแนนเฉลี่ย

​ในการประชุม FOMC วันที่ 14-15 มิ.ย. นี้ คาดว่าเฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ตามที่ได้ส่งสัญญาณไว้ โดยเฟดจะยังคงให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อเป็นหลัก ท่ามกลางเงินเฟ้อที่ยังคงเร่งตัวในระดับสูงและมีแนวโน้มที่จะไม่ชะลอลงในระยะอันใกล้ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปวัดจากดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนพ.ค. 2565 พลิกกลับมาเร่งสูงขึ้นและแตะระดับสูงสุดในรอบ 40 ปีที่ระดับ 8.6% YoY  ซึ่งเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้นนั้นออกมาเหนือความคาดหมายของตลาดที่มองว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดมาแล้วและมีแนวโน้มที่จะชะลอลง ดังนั้น คาดว่าเฟดคงจะส่งสัญญาณว่าจะใช้นโยบายทางการเงินแบบแข็งกร้าวอย่างต่อเนื่องเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ โดยในการประชุม FOMC รอบเดือนมิ.ย. 2565 ที่จะถึงนี้รวมถึงในรอบเดือนก.ค. เฟดคงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 ตามที่ได้เคยส่งสัญญาณไว้ ขณะที่เฟดอาจส่งสัญญาณปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีกร้อยละ 0.50 หลังการประชุม 2 ครั้งข้างหน้า  ซึ่งเฟดคงจะรอติดตามพัฒนาการของเงินเฟ้อและเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในแต่ละรอบการประชุม

ทั้งนี้ แม้ว่าเฟดจะพยายามประคับประคองเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ไปสู่ soft landing แต่ด้วยแรงกดดันเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูงอาจส่งผลให้เฟดจำเป็นต้องดำเนินนโยบายทางการเงินแบบแข็งกร้าวต่อไป ซึ่งจะส่งผลให้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ความเสี่ยงของการเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐฯ จะเพิ่มขึ้น แต่ความเป็นไปได้ในปีนี้ยังต่ำอยู่ เนื่องจากโดยภาพรวมของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกายังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยตลาดแรงงานมีแนวโน้มแข็งแกร่ง ขณะที่การใช้จ่ายของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะยังขยายตัวได้อย่างต่อเนื่องแม้ว่าอาจจะเติบโตในอัตราที่ชะลอลง อย่างไรก็ดี ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังมองความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีหน้า ท่ามกลางแรงส่งจากปัจจัยบวกต่างๆ ที่ลดลง ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจยังคงอยู่ในระดับสูงจากประเด็นด้านเงินเฟ้อและการดำเนินนโยบายทางการเงินแบบตึงตัวอย่างต่อเนื่องของเฟดซึ่งจะไปกดดันการบริโภคที่เป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้ชะลอตัวลง อีกทั้งยังจะสร้างแรงกดดันต่อตลาดเงินตลาดทุนของสหรัฐฯ รวมถึงทั่วโลกให้ปรับตัวลงอีกด้วย

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ