Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 พฤษภาคม 2566

เศรษฐกิจต่างประเทศ

การประชุม G7 ที่ผ่านมา ตอกย้ำความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้มข้นขึ้น (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3413)

คะแนนเฉลี่ย

        การประชุม G7 ประจำปี 2566 ที่เมืองฮิโรชิมาประเทศญี่ปุ่นระหว่างวันที่ 19-21 พฤษภาคม ให้น้ำหนักของเนื้อหาการประชุมไปที่ประเด็นความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ โดยยังคงส่งสัญญาณให้การสนับสนุนยูเครนในด้านต่างๆ เพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย การแสดงจุดยืนที่จะลดทอนบทบาทจีนรอบด้าน รวมถึงการแสวงหาพันธมิตรใหม่ในประเทศกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้ (Global South) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มีมุมมองเกี่ยวกับการประชุมดังกล่าวที่ภาคธุรกิจต้องตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนอย่างน้อย 3-5 ปี ดังนี้

  1.  ประเด็นภูมิรัฐศาสตร์โลกจะยังคงเป็นชนวนสำคัญที่สร้างความเปราะบางให้กับเศรษฐกิจโลกในระยะกลาง-ระยะยาว สงครามยูเครน-รัสเซียมีท่าทียืดเยื้อซึ่งจะเห็นได้ว่า G7 เดินหน้าคว่ำบาตรรัสเซียด้านต่างๆ มากขึ้นและกดดันจีนในเรื่องนี้อย่างหนักเพื่อตัดช่องทางช่วยเหลือทางเศรษฐกิจของรัสเซีย นอกจากนี้ G7 ได้พยายามสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจกับประเทศ Global South เพื่อเพิ่มบทบาททางเศรษฐกิจในพื้นที่ที่จีนเข้าไปสานสัมพันธ์อยู่แล้ว สิ่งเหล่านี้อาจซ้ำเติมความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ กับจีนที่มีมาก่อนหน้าให้ร้าวลึกขึ้นอีก โดยจะเริ่มเห็นการถอยห่างทางเศรษฐกิจระหว่าง G7 กับจีนบ้างแล้วจากฝั่งจีนที่ลดความสัมพันธ์ทางการค้ากับ G7 เหลือเพียง 33.3% ของมูลค่าการค้ารวมของจีน ในปี 2565 (จาก 39.9% ในปี 2560) ขณะที่ฝั่ง G7 ยังไม่มีภาพเปลี่ยนไปมากนัก
  2.  ห่วงโซ่อุปทานการผลิตโลกถูกแบ่งเป็น 2 ขั้วชัดขึ้น ด้วย G7 ส่งสัญญาณเดินหน้ากดดันจีนแม้ในการประชุมจะไม่ได้ระบุว่าจีนเป้าหมายหลัก แต่สะท้อนความพยายามสกัดบทบาทจีนในเวทีโลกในด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี ท่ามกลางแรงกดดันจาก G7 ผ่านมาตรการควบคุมการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีไปจีนทำให้นักลงทุนในจีนและนักลงทุน G7 ย้ายฐานการผลิตจากจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งในระยะเปลี่ยนผ่านไทยน่าจะได้รับอานิสงส์การลงทุนบางส่วนจากการปรับเปลี่ยนห่วงโซ่อิเล็กทรอนิกส์ใหม่ โดยเฉพาะด้านการประกอบชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งเป็นบทบาทหลักของไทย สำหรับในระยะกลาง-ระยะยาวโอกาสรับเม็ดเงินลงทุนใหม่ในกลุ่มเทคโนโลยีใหม่คงต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของนักลงทุนที่เล็งเห็นโอกาสจากประเทศผู้รับทุนเป็นหลัก
  3.  ผลพวงของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้มีสัญญาณหันมาใช้เงินสกุลท้องถิ่นเพื่อลดความเสี่ยงจากการใช้เงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการผลักดันเงินหยวนเพื่อชำระค่าสินค้าและบริการระหว่างประเทศมากขึ้น ในระยะข้างหน้า หากสกุลเงินหยวนเริ่มเป็นสกุลเงินท้องถิ่นธุรกิจที่มีการค้าขายกับจีนอาจจะต้องใช้สกุลเงินหยวนในการชำระสินค้าและบริการมากขึ้นไม่เฉพาะไทยแต่รวมถึงภูมิภาคอาเซียน ทั้งนี้ จีนเป็นคู้ค้าสำคัญอันดับ 1 ของไทยที่ปริมาณการค้าระหว่างกัน (ส่งออก+นำเข้า) ในปี 2565 มีมูลค่ากว่า 1.05 แสนล้านดอลลาร์ฯ หรือคิดเป็นสัดส่วน 18% ของการค้ารวมของไทยกับต่างประเทศ ในขณะที่ข้อมูลปี 2565 การชำระเงินค่าสินค้าและบริการระหว่างไทยกับจีนยังเป็นสกุลเงินดอลลาร์ฯ ในสัดส่วนกว่า 80%
  4. Global South กลุ่มเศรษฐกิจกำลังพัฒนาในซีกโลกใต้กำลังเป็นที่หมายตาของทั่วโลก นับเป็นโอกาสที่ธุรกิจไทยไม่ควรมองข้ามในการจับตลาดใหม่ที่กำลังเติบโต ประเทศเหล่านี้มีทั้งตลาดขนาดใหญ่และเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีในระยะยาว โดยจีนเข้าไปกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจผ่านโครงการ BRI มากว่าทศวรรษ และในเวลานี้กลุ่ม G7 เองก็เร่งเดินหน้ากระชับความสัมพันธ์ในลักษณะใกล้เคียงกัน แม้ในเวลานี้หลายประเทศใน Global South จะยังมีเศรษฐกิจเปราะบาง ประสบปัญหาเงินเฟ้อในระดับสูง แต่เศรษฐกิจยังต้องพึ่งพาสินค้าและบริการจากต่างประเทศเพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจ

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ