Display mode (Doesn't show in master page preview)

11 พฤศจิกายน 2563

เศรษฐกิจไทย

ดัชนีภาวะเศรษฐกิจฯ (KR-ECI) ในเดือนต.ค.ปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน ได้รับปัจจัยหนุนจากรายได้และการจ้างงานภาคเกษตร

คะแนนเฉลี่ย
  • ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทย (KR-ECI) ในเดือนต.ค.2563 และ ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนไทยใน 3 เดือนข้างหน้าโดยรวมปรับตัวดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน เนื่องจากมุมมองต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ที่ดีขึ้น โดยเฉพาะครัวเรือนเกษตรมีมุมมองที่ดีขึ้นต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ สอดคล้องไปกับราคาสินค้าเกษตรที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ทั้งข้าว ผัก และผลไม้ โดยเฉพาะราคายางพาราในช่วงเดือนต.ค.ที่เพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับสูงสุดในรอบกว่า 3 ปี อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนในกรุงเทพฯ และปริมณฑลยังมีมุมมองต่อภาวะการจ้างงานและรายได้ไม่ดีขึ้น สอดคล้องกับผลสำรวจเพิ่มเติมของการจ้างงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑลที่ระบุว่าสถานการณ์การเลิกจ้างยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
  • อย่างไรก็ตาม ครัวเรือนยังมีความกังวลต่อภาวะ​ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเข้าใกล้สู่เทศกาลเฉลิมฉลองช่วงสิ้นปี สะท้อนจากผลสำรวจภาวะการครองชีพของครัวเรือนไทยใน 3 เดือนข้างหน้าในส่วนของค่าใช้จ่าย (ไม่รวมหนี้) ที่ปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี มาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการเพิ่มเงินให้กับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐฯ และโครงการคนละครึ่งจะเข้ามาช่วยแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายได้บางส่วน
  • ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า แม้ว่ามาตรการกระตุ้นกำลังซื้อของภาครัฐจะเป็นเพียงปัจจัยกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น แต่ก็จะเข้ามาช่วยให้บรรยากาศการจับจ่ายใช้สอยในไตรมาส 4/2563 กลับมาคึกคักมากขึ้น และจะช่วยประคองภาพเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2563 อย่างไรก็ตาม ในระยะข้างหน้าเศรษฐกิจไทยยังเผชิญความท้าทายอีกหลากหลายด้าน  ทั้งในเรื่องของสถานการณ์การจ้างงานที่ยังเปราะบาง ภาคธุรกิจที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวกลับมาสู่ระดับเดียวกับก่อนโควิด-19 รวมถึงปัจจัยทางการเมืองในประเทศที่ยังมีความไม่แน่นอน


เศรษฐกิจไทย