การส่งออกไทยในเดือนมี.ค.67 หดตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือนที่ -10.9%YoY
(รูปที่ 1) เนื่องจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของช่วงเวลาเดียวกันในปี
2566 เป็นสำคัญ โดยการส่งออกทองคำในเดือนมี.ค.66 มีมูลค่าสูงถึง 1,500
ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าปกติที่โดยเฉลี่ยอยู่ต่ำกว่า
1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จึงส่งผลให้การส่งออกทองคำในเดือนมี.ค.67 หดตัวถึง
-75.0%YoY ซึ่งเมื่อหักทองคำการส่งออกไทยในเดือนมี.ค.67 หดตัวอยู่ที่
-7.1%YoY
นอกจากนี้
การส่งออกสินค้าสำคัญในกลุ่มอุตสาหกรรมหลายรายการหดตัวลงในเดือนมี.ค. 67
โดยเฉพาะ Hard Disk Drive (HDD) ที่หดตัวเป็นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน
เนื่องจากปัจจัยด้านฐาน โดยการส่งออก HDD ในเดือนมี.ค. 66 ไปยังสหรัฐฯ
เติบโตสูงมากโดยได้อานิสงส์ตามรอบการผลิตและส่งมอบสินค้า นอกจากนี้
การส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบในเดือนมี.ค.67
ก็ยังหดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 เนื่องจากความต้องในตลาดอาเซียนที่ลดลง
ทั้งนี้ หากดูรายตลาดส่งออก
การส่งออกไปยังตลาดคู่ค้าสำคัญของไทยหดตัวเกือบทั้งหมดยกเว้นสหรัฐฯ
ส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกไทยในไตรมาสที่ 1/2567 หดตัวที่ -0.2%YoY
ในปี 2567
ภาพรวมการส่งออกไทยยังฟื้นตัวได้ช้าเมื่อเทียบกับหลายประเทศในภูมิภาค
(รูปที่ 2) ส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง โดยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา
(2561-2565)
ไทยได้สูญเสียส่วนแบ่งตลาดในการส่งออกสินค้าหลายประเภทในตลาดโลกไป (รูปที่
3) โดยสินค้าของไทยบางรายการเผชิญความต้องการที่ลดลงจากตลาดโลก อาทิ HDD
รถยนต์สันดาป รวมถึงการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มสินค้าเกษตร เช่น ข้าว
ทุเรียน เป็นต้น
ที่คู่แข่งอย่างเวียดนามมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพและสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้น
มองไปในช่วงที่เหลือของปีนี้ การส่งออกไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวช้า
โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาเชิงโครงสร้าง อย่างไรก็ตาม
ในช่วงที่เหลือของปีนี้
ผลจากปัจจัยฐานที่อยู่ในระดับสูงของปีก่อนหน้าคงมีลดลง
ส่งผลให้การส่งออกไทยมีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้ในไตรมาสที่เหลือของปีนี้
โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการส่งออกไทยในปี 2567 อยู่ที่ 2.0%
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น