Display mode (Doesn't show in master page preview)

30 พฤษภาคม 2566

เศรษฐกิจไทย

การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกกดดันส่งออกไทยหดตัวมากขึ้นที่ -7.6% (YoY) ในเดือนเม.ย.66 โดยระยะข้างหน้าทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทยจะเป็นอีกโจทย์สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 4006)

คะแนนเฉลี่ย

        ในเดือนเมษายน 2566 บรรยากาศการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกได้กดดันการส่งออกไทยให้หดตัวมากกว่าที่คาดการณ์ แม้มีปัจจัยฐานที่น้อยกว่าเดือนก่อนหน้าแต่ผลของอุปสงค์ที่ลดลงกลับกดดันการส่งออกไทยให้เผชิญกับการหดตัวมากขึ้นที่ -7.6% (YoY) นับเป็นการหดตัว 7 เดือนติดต่อกัน โดยปัจจัยที่มีผลต่อการส่งออกในเดือนนี้มากจากการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญของไทยหดตัวเกือบทั้งหมด ได้แก่ สหรัฐฯ ยูโรโซน และญี่ปุ่น นอกจากนี้ การส่งออกไปยังตลาดสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ก็กลับมาหดตัวลึกในเดือนนี้จากการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการที่หดตัวตามอุปสงค์ที่ลดลง อย่างไรก็ดี ในเดือนนี้เริ่มเห็นสัญญาณการส่งออกที่ฟื้นตัวในตลาดจีน โดยขยายตัว 23.0% (YoY) หลังหดตัวติดต่อกัน 10 เดือน
        ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า ในระยะข้างหน้าภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญของไทย นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ รวมถึงปัจจัยเสี่ยงเชิงลบอื่น ๆ จะเข้ามากดดันภาคการส่งออกของไทย อาทิ ปัญหาภูมิรัฐศาตร์ ความผันผวนของค่าเงิน สภาพอากาศที่อาจไม่อำนวย อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยเชิงบวกต่อการส่งออกไทยจากตลาดจีนที่กลับมาขยายตัวได้ในเดือนนี้ และปัจจัยฐานที่ลดลงโดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีหลัง ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองภาพรวมการส่งออกไทยในปี 2566 ยังคงติดลบที่ -1.2% นอกจากนี้ ยังมีมุมมองว่า ทิศทางการค้าระหว่างประเทศของไทยจะเป็นอีกโจทย์สำคัญในการดำเนินนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ โดยเฉพาะภาคการส่งออก ซึ่งเป็นความท้าทายของรัฐบาลในอนาคตที่อาจจะเข้ามาสานต่อความสัมพันธ์ทางการค้าที่มีอยู่ในขณะนี้ และศึกษา เจรจา จัดทำความตกลงกับตลาดใหม่ ๆ เพิ่มเติม

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย