Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 ธันวาคม 2562

เศรษฐกิจต่างประเทศ

UK Election 2019: ในระยะสั้นคลี่ปม BREXIT ... แต่ในระยะต่อไปยังมีโจทย์ท้าทายอื่นรออยู่ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3061)

คะแนนเฉลี่ย

           ผลการเลือกตั้งทั่วไปของอังกฤษในวันที่ 12 ธันวาคม 2563 เบื้องต้นก็ชี้ว่านายบอริส จอนห์สัน จากพรรอนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ได้ครองตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไป อีกทั้ง ยังสามารถครองเสียงส่วนใหญ่ในสภาล่างหรือสภาสามัญชน (House of Commons) ได้อย่างท่วมท้นถึง 364 ที่นั่ง (จากทั้งหมด 650 ที่นั่ง) ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ฐานเสียงดังกล่าวจะเป็นการปูทางให้การผ่านร่างกฎหมาย BREXIT ที่ติดขัดมายาวนานให้สามารถบรรลุได้ในที่สุด จนเริ่มกระบวนการถอนตัวได้อย่างเป็นทางการ และสามารถถอนตัวออกจาก EU ได้ภายในกำหนดเวลาล่าสุดวันที่ 31 มกราคม 2563 (หลังจากที่เลื่อนมาแล้ว 3 ครั้ง) นับเป็นการปลดล็อคทางการเมืองภายในอังกฤษครั้งสำคัญ และลดแรงกดดันทางเศรษฐกิจของภูมิภาคไปพร้อมกัน แต่ก็ยังมีประเด็นที่ต้องติดตาม ดังนี้

              ในระยะสั้น ผลการเลือกตั้งนำไปสู่การถอนตัวของอังกฤษออกจาก EU สามารถเกิดขึ้นได้ภายในกำหนดเวลาวันที่ 31 มกราคม 2563 โดยผลบวกที่เกิดขึ้นทันทีจะเห็นได้จากค่าเงินปอนด์เริ่มกลับมามีเสถียรภาพ ช่วยบรรเทาแรงกดดันด้านเงินเฟ้อตามต้นทุนการนำเข้าสินค้าที่ลดลง ทั้งยังเปิดโอกาสให้ธนาคารกลางอังกฤษสามารถใช้นโยบายการเงินแบบผ่อนคลายในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีกทางหนึ่ง ส่งผลดีต่อเนื่องให้เศรษฐกิจอังกฤษในปี 2563 กลับมากระเตื้องขึ้น

              ในระยะต่อไปหลังเกิด BREXIT รัฐบาลอังกฤษชุดนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนรออยู่ ซึ่งก็ขึ้นกับว่ารัฐบาลจะสามารถแก้โจทย์ทางเศรษฐกิจตามความคาดหวังของประชาชนได้แค่ไหน ที่ไม่เพียงจะสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้แก่รัฐบาลแต่ยังเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าการถอนตัวออกจาก EU ทำให้เศรษฐกิจอังกฤษดีขึ้นกว่าเดิม แม้จะต้องรอเวลา 1-3 ปีข้างหน้าก็ตาม โดยเฉพาะการเร่งรัดการเจรจา FTA ระหว่างอังกฤษกับ EU รวมทั้งการเจรจาการค้ากับคู่ค้าอื่นๆ ที่อังกฤษเคยมี FTA ภายใต้การเป็นสมาชิก EU ให้ยังคงสถานะเดิมต่อไปได้ก็มีส่วนสำคัญที่จะเข้ามาช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

              สำหรับผลต่อไทย ปฏิเสธไม่ได้ว่าบรรยากาศเศรษฐกิจของอังกฤษและประเด็นด้านค่าเงินในช่วงที่ผ่านมาไม่เอื้อต่อการส่งออกของไทยไปอังกฤษทำให้ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2562 หดตัวร้อยละ 4.7 (YoY) ซึ่งแรงกดดันดังกล่าวจะยังคงฉุดการส่งออกตลอดปีนี้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การส่งออกสินค้าไทยไปอังกฤษในปี 2562 จะยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 ที่ราวร้อยละ 4.2 (YoY) แต่ด้วยผลการเลือกตั้งที่เอื้อต่อการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการ BREXIT ส่งผลดีต่อบรรยากาศทางเศรษฐกิจในภาพรวม ประกอบกับผลของฐานการส่งออกของไทยที่ต่ำในปีนี้อานิสงส์ต่อการส่งออกของไทยไปตลาดอังกฤษอาจกลับมากระเตื้องขึ้นและมีโอกาสขยายตัวได้ที่เลขหลักเดียวในปี 2563

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ