Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 พฤษภาคม 2564

เศรษฐกิจไทย

ภาวะเงินเฟ้อสูง...กดดันผลตอบแทนแท้จริง แต่ก็เป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจ สภาพคล่อง และดอกเบี้ยของกนง. (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3222)

คะแนนเฉลี่ย

ในภาวะปัจจุบัน ทั่วโลกกำลังเผชิญความกังวลต่อภาวะเงินเฟ้อที่เร่งขึ้น ซึ่งรวมถึงสหรัฐฯ และไทย อย่างไรก็ดี สถานการณ์เงินเฟ้อและความแข็งแรงของภาวะเศรษฐกิจไทยกับสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน เพราะสภาวะเงินเฟ้อไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทาน และเป็นช่วงจังหวะเวลาที่เศรษฐกิจไทยกำลังเผชิญกับแรงกดดันและความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด 19 รอบที่สาม ซึ่งมีผลกระทบโดยตรงต่อเนื่องยังแนวโน้มการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจในระยะที่เหลือของปีนี้และปีหน้า

ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า มีโอกาสน้อยมากที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับขึ้น (เพราะไม่ใช่กรณีที่เงินเฟ้อเกิดขึ้นพร้อมกับเศรษฐกิจที่ขยายตัว) โดยคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. จะยังคงให้น้ำหนักความสำคัญกับการดูแลปัญหาเศรษฐกิจมากกว่าปัญหาเงินเฟ้อ และน่าจะยังต้องดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลาย ด้วยการยืนอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเพื่อช่วยสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาพรวม สอดคล้องไปกับมาตรการด้านการคลังที่ยังจะต้องเน้นการใช้จ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อประคองสถานการณ์กำลังซื้อและรายได้เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้ที่เพียงพอต่อการดำรงชีพ ผ่านพ้นช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ไปก่อน 

ส่วนผลกระทบของเงินเฟ้อที่เร่งขึ้นต่อผลตอบแทนจากการออมและลงทุนนั้น คงต้องย้อนมองฝั่งอัตราดอกเบี้ยตลาดการเงินและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีการปรับตัวตามกลไกการส่งผ่านของอัตราดอกเบี้ยนโยบายการเงินของกนง. ดังนั้น เมื่ออัตราดอกเบี้ยนโยบายยังทรงตัวต่ำ สภาวะเศรษฐกิจไทยยังอ่อนแอ และระบบธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีภาวะสภาพคล่องสูง (4.62 ล้านล้านบาท) จึงทำให้อัตราดอกเบี้ยตลาดและอัตราดอกเบี้ยธนาคารพาณิชย์อยู่ในระดับต่ำตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อเงินเฟ้อเร่งขึ้นจึงส่งผลทำให้อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของไทย หรืออัตราดอกเบี้ยที่หักด้วยเงินเฟ้อ เริ่มมีค่าติดลบแล้วตั้งแต่ในเดือนเม.ย. 2564 ที่ผ่านมา ​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย