Display mode (Doesn't show in master page preview)

1 กรกฎาคม 2565

เศรษฐกิจไทย

ครบรอบ 25 ปีวิกฤตต้มยำกุ้ง...สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันไม่ย้อนรอยอดีต (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3330)

คะแนนเฉลี่ย

วันที่ 2 กรกฎาคม 2565 เป็นวันครบรอบ 25 ปี ที่ไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อปี 2540 โดยการตัดสินใจในครั้งนั้นนับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของไทย กลับมามองสถานการณ์ในปัจจุบัน เงินบาทในปีนี้มีทิศทางอ่อนค่าสอดคล้องกับหลายสกุลเงินในเอเชีย ซึ่งล้วนได้รับผลกระทบจากปัจจัยของเงินดอลลาร์ฯ โดยเฉพาะการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว จะพบว่า สถานการณ์ในปัจจุบันมีความแตกต่างจากปี 2540 เพราะในปี 2540 เงินบาทที่อ่อนค่าเป็นผลมาจากการปรับอ่อนค่าหลังมีการลอยตัวค่าเงินเพื่อสะท้อนปัจจัยพื้นฐานที่อ่อนแอของไทยในเวลานั้น นอกจากนี้หากดูในเรื่องความผันผวนของค่าเงิน จะพบว่า ค่าความผันผวนของเงินบาทในปี 2565 ก็ยังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับภาพรวมของสกุลเงินเอเชียอื่นๆ ซึ่งสะท้อนว่า ธปท. ยังคงช่วยดูแลความเคลื่อนไหวและลดความผันผวนของค่าเงินบาทท่ามกลางปัจจัยไม่แน่นอนรอบด้าน
ยิ่งไปกว่านั้น จุดที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดเจน ก็คือ ทุนสำรองระหว่างประเทศที่สูงและแข็งแกร่งกว่าในอดีตมาก (ประมาณ 2.51 แสนล้านบาท ณ 24 มิ.ย. 2565) ขณะที่สัดส่วนหนี้ต่างประเทศก็ปรับลดลงมาอยู่ที่ระดับ 38.2% ต่อจีดีพี ณ สิ้นปี 2564 นอกจากนี้ทางการได้เข้ามาดูแลการเก็งกำไรในตลาดอสังหาริมทรัพย์เป็นระยะผ่านมาตรการ อาทิ การกำหนดเกณฑ์ LTV ซึ่งภาพเหล่านี้สะท้อนการเรียนรู้บทเรียนจากอดีตและการวางแนวทางเพื่อไม่ให้ไทยซ้ำรอยเดิม อย่างไรก็ดี คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจไทยในปัจจุบันยังมีโจทย์รออยู่แม้ไม่เหมือนกับในอดีต โดยปัจจุบันมีต้นตอของปัญหามาจากโควิด-19 สงครามยูเครน-รัสเซียซึ่งกระทบราคาน้ำมัน รวมถึงการปรับขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ทำให้มีทั้งประเด็นเฉพาะหน้าและโจทย์เชิงโครงสร้างที่ต้องติดตาม เช่นเดียวกับ ภาพของแบงก์ไทยวันนี้ที่แม้จะมีสถานะแข็งแกร่งกว่าปี 2540 แต่ก็มีโจทย์เรื่องการประคองความสามารถในการทำกำไร พร้อมๆ กับการดูแลปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และการเร่งช่วยปรับโครงสร้างหนี้ในระยะยาวให้กับลูกหนี้
  จากภาพดังกล่าวสะท้อนว่า ปัญหาของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันจะไม่เหมือนกับในปี 2540 และไทยก็ได้มีการเรียนรู้และปรับมาตรการและกฎเกณฑ์มาป้องกันการซ้ำรอย อย่างไรก็ดี โจทย์ที่สำคัญ ก็คือ การช่วยประคองภาคครัวเรือนและธุรกิจให้สามารถรับมือกับปัญหาเฉพาะหน้า อาทิ แรงกดดันเงินเฟ้อ ค่าครองชีพ/ต้นทุนที่สูง และดอกเบี้ยในประเทศที่กำลังจะขยับขึ้น พร้อมๆ กับการวางแนวทางรับมือกับโจทย์เชิงโครงสร้าง ทั้งระดับหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้น การยกระดับทักษะแรงงาน การก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และเร่งผลักดันการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เพื่อลดอุปสรรคที่เป็นข้อจำกัดการเติบโตของเศรษฐกิจและรายได้ในอนาคต

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจไทย

GDP