Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 ตุลาคม 2561

เศรษฐกิจไทย

หนี้ครัวเรือนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในไตรมาส 2/2561 ... กว่าครึ่งหนึ่งของหนี้ที่เพิ่ม เป็นผลจากสินเชื่อบ้าน-รถ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3765)

คะแนนเฉลี่ย
          ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 2/2561 ขยับขึ้นมาที่ 12.34 ล้านล้านบาท (เติบโต 5.7% YoY) โดยหนี้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่น่าจะเป็นผลมาจากการเร่งตัวขึ้นของยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน และสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ โดยหากนับเฉพาะการขยับขึ้นยอดคงค้างสินเชื่อบ้าน จะคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 38% ของยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นในระหว่างไตรมาส 2 อย่างไรก็ดี สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพี ยังคงชะลอลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 77.5% ในไตรมาส 2/2561 โดยเป็นผลมาจากเศรษฐกิจ (วัดจาก Nominal GDP) ที่ขยายตัวเร็วกว่ายอดคงค้างหนี้ครัวเรือน 
          การขยับขึ้นของหนี้ครัวเรือนดังกล่าว สะท้อนสภาพการแข่งขันในตลาดสินเชื่อรายย่อย โดยเฉพาะสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ และสินเชื่ออุปโภคบริโภคอื่นๆ ของ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ (นอนแบงก์) สวนทางกับสถาบันการเงินประเภทอื่นๆ ที่มีบทบาทลดลง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งแรกของปี 2561
           สำหรับแนวโน้มของหนี้ครัวเรือน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า อานิสงส์จากเศรษฐกิจไทยที่เติบโตดีขึ้น อาจส่งผลทำให้ยังคงเห็นสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปี 2561 นี้ ขยับลงต่อเนื่องมาอยู่ในกรอบ 77.0-78.0% อย่างไรก็ดี การเพิ่มขึ้นของหนี้ครัวเรือนในปีนี้ (ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหนี้ก้อนใหญ่) รวมถึงทิศทางดอกเบี้ยที่มีโอกาสขยับขึ้นในระยะข้างหน้า อาจมีผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนบางกลุ่ม แม้ปัจจัยดังกล่าวอาจจะไม่กระทบต่อทิศทางของหนี้ครัวเรือนในภาพรวมมากนัก หากเศรษฐกิจไทยยังคงประคองการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่องในปีหน้า


​​

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม