Display mode (Doesn't show in master page preview)

22 ตุลาคม 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

ศึกเลือกตั้งสหรัฐฯ 2020 ... ความไม่แน่นอนอาจลากยาวจนถึงวันสาบานตนของผู้นำสหรัฐฯ คนใหม่ในวันที่ 20 ม.ค. 2564 (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3150)

คะแนนเฉลี่ย

​              การเลือกตั้งประธานาธิดีสหรัฐฯ ในปีที่สหรัฐฯ กำลังเผชิญกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกจับตามองเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวิสัยทัศน์และแนวนโยบายของผู้นำคนใหม่ซึ่งถูกคาดหวังว่าจะมีส่วนช่วยพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากนายโจ ไบเดนซึ่งมีคะแนนนิยมสูงในขณะนี้มีโอกาสได้เป็นผู้นำคนใหม่จะนำพาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ปี 2564 กลับมาฟื้นตัวได้ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 3.0 ซึ่งสูงกว่าในกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์ที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจขยายตัวน้อยกว่าร้อยละ 2.0 จากข้อจำกัดในการบริหารงาน อย่างไรก็ดี ผลการเลือกตั้งมีโอกาสพลิกผันได้จึงต้องรอบทสรุปอย่างเป็นทางการในวันที่ 20 มกราคม 2564

              ผลต่อตลาดเงินตลาดทุนในระยะสั้น เงินดอลลาร์ฯ มีโอกาสแข็งค่าขึ้นในฐานะสกุลเงินปลอดภัย ขณะที่แรงขายสินทรัพย์เสี่ยงอาจเพิ่มสูงขึ้นมาก หากการรับรองผลการเลือกตั้งมีความยืดเยื้อ ส่วนในระยะกลาง-ยาว เงินดอลลาร์ฯ อาจมีแนวโน้มอ่อนค่าตามสัญญาณผ่อนคลายนโยบายการเงินของเฟด และอาจมีแรงกดดันเพิ่มเติมจากแนวโน้มการขาดดุลการคลังของสหรัฐฯ ในกรณีที่นายโจ ไบเดนชนะการเลือกตั้ง

            ​   ส่วนผลต่อภาคเศรษฐกิจจริงของไทยในปี 2564 ผลทางตรงจะขึ้นอยู่กับภาพรวมการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่อาจแตกต่างกัน โดยหากนายโจ ไบเดนได้เป็นผู้นำคนใหม่ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวดีกว่าจะส่งผลต่อความต้องการสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสินค้าส่งออกหลักของไทยไปสหรัฐฯ อาทิ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง อาหารทะเลแปรรูป อันจะส่งผลให้ภาพรวมการส่งออกของไทยไปสหรัฐฯ ปี 2564 มีโอกาสขยายตัวได้ดีในกรอบร้อยละ 10-12 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 36,700-37,300 ล้านดอลลาร์ฯ ดีขึ้นจากปี 2563 ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ร้อยละ 6.4 แต่ถ้าพลิกโผมาเป็นนายโดนัลด์ ทรัมป์ได้เป็นผู้นำแต่ไม่ได้สิทธิในการบริหารงานผ่านเสียงข้างมากในแต่ละสภา การส่งออกของไทยอาจเติบโตต่ำกว่าร้อยละ 5.0 ด้วยมูลค่าส่งออกราว 35,000 ล้านดอลลาร์ฯ โดยสินค้าส่วนใหญ่ที่เติบโตได้ค่อนข้างจำกัด โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือยที่ยังไม่จำเป็นต่อการบริโภค ขณะที่ผลทางอ้อมผ่านนโยบายด้านต่างประเทศโดยเฉพาะกับจีนนั้น ไม่ว่าใครจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำคนใหม่ ท่าทีที่แข็งกร้าวกับจีนที่ส่งผลให้การลงทุนโดยตรงยังคงไหลออกจากจีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ในระยะสั้น ต้องจับตาทิศทางสงครามการค้าที่คาดว่าจะไม่ยกระดับในกรณีของนายโจ ไบเดน แต่มีความเสี่ยงที่จะเร่งตัวขึ้นในกรณีของนายโดนัลด์ ทรัมป์


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ