Display mode (Doesn't show in master page preview)

19 พฤศจิกายน 2563

เศรษฐกิจต่างประเทศ

RCEP เตรียมบังคับใช้ แต่ยังต้องติดตามท่าทีสหรัฐฯ ต่อ CPTPP ซึ่งจะมีผลต่อไทยในระยะข้างหน้า (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3162)

คะแนนเฉลี่ย

​​ในเวลานี้ไทยได้ร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของกรอบการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลกอย่างความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค หรือ RCEP เป็นที่เรียบร้อย เป็นเรื่องน่ายินดีที่ช่วยรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยที่ยังมีอยู่ไว้ได้ต่อไปในระยะสั้น แต่ความสามารถในการแข่งขันของไทยในระยะข้างหน้ากำลังถูกสั่นคลอนจากการที่คู่แข่งของไทยก็ร่วมเป็นสมาชิกอยู่ในความตกลงนี้และยังเป็นสมาชิกในกรอบการค้าเสรีอื่นๆ อีกที่ไทยไม่มี โดยเฉพาะความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นเอเชียแปซิฟิกหรือ CPTPP อีกทั้ง เป็นที่น่าจับตาว่าหลังจากนายโจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐฯ ก็อาจจะนำพาสหรัฐฯ ให้กลับมาเจรจาสานต่อความตกลงนี้ที่เคยเริ่มไว้ตั้งแต่สมัยนายบารัก โอบามา

อนึ่ง ความตกลง RCEP กับ CPTPP ต่างก็เป็นเครื่องช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ประเทศสมาชิก ขณะที่เวลานี้ไทยกำลังสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจให้กับเวียดนามที่เป็นคู่แข่งสำคัญในทุกมิติ ซึ่งก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จของเวียดนามล้วนมาจาก FTA ที่เวียดนามมีไม่ว่าจะเป็น EU รัสเซีย CPTPP และข้อตกลงล่าสุดอย่าง RCEP ที่ยิ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นฐานการผลิตที่สามารถเชื่อมเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตได้ทุกภูมิภาคทั่วโลก ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การที่ไทยอยู่ในความตกลง RCEP ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่ไทยอย่างมีนัยสำคัญ แม้จะมีจุดเด่นที่กระชับห่วงโซ่การผลิตของภูมิภาคเอเชียได้อย่างเหนียวแน่น ช่วยทำให้ไทยยังคงขีดความสามารถในการแข่งขันที่มีอยู่ไว้ได้ในระยะสั้นด้วยการเป็นประเทศน่าลงทุนเพื่อการผลิตและส่งออกไปยังประเทศฝั่งเอเชียเป็นหลัก แต่ในระยะยาวการแข่งขันของไทยในเวทีอื่นๆ คงนับวันก็ยิ่งถดถอยลง โดยเฉพาะในฝากฝั่งซีกโลกตะวันตกที่ไทยแทบไม่มีตัวช่วยใดๆ ในการทำตลาดเลย ประกอบกับมีสัญญาณว่าสหรัฐฯ อาจกลับมาเข้าร่วม CPTPP นั่นคงยิ่งทำให้เวียดนามยิ่งมีความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าไทยขึ้นไปอีก

นอกจากนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ความตกลง CPTPP ที่มีสหรัฐฯ รวมอยู่ (ในที่นี้ขอเรียกว่า CPTPP+สหรัฐฯ) มีโอกาสเกิดขึ้นได้ ภายใต้การนำของพรรคเดโมแครต แต่คงไม่ใช่ระยะอันใกล้ โดยคาดว่านายโจ ไบเดนจะต้องเร่งรัดแก้ปัญหาโควิด-19 และพลิกฟื้นเศรษฐกิจสหรัฐฯ ให้กลับมาเติบโตได้เป็นลำดับแรก หลังจากนั้นจึงจะเดินหน้าผลักดันการเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ที่ก็ยังมีอุปสรรคจากสภาคองเกรสที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ทำให้กว่าจะยื่นเรื่องขอเข้าร่วมเจรจาเป็นสมาชิก CPTPP ได้ อย่างเร็วคงเกิดในช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ทั้งนี้ ถ้าหากสหรัฐฯ จะกลับมาร่วมเป็นสมาชิก CPTPP สหรัฐฯ คงต้องเดินตามข้อกำหนดที่สมาชิกได้เจรจาไว้และเริ่มบังคับใช้ไปแล้ว อาจทำให้สหรัฐฯ ได้ประโยชน์น้อยลงในการเปิดตลาดสินค้าและบริการของประเทศสมาชิก แต่รวมแล้วสหรัฐฯ ก็ยังได้ประโยชน์ในด้านอื่นๆ อีกมาก ดังนั้น ความตกลง CPTPP+สหรัฐฯ น่าจะเกิดขึ้นได้ง่ายกว่าการที่จะไปเริ่มเจรจา FTA ฉบับใหม่กับประเทศในเอเชีย แต่สหรัฐฯ คงต้องยืนสมัครเข้าเป็นสมาชิกตามขั้นตอน

อย่างไรก็ดี ในระหว่างที่ไทยมี RCEP อยู่แล้ว และคู่แข่งยังไม่มี FTA กับสหรัฐฯ รวมทั้ง CPTPP+สหรัฐฯ ยังมาไม่ถึง เป็นจังหวะที่ดีที่ทางการไทยจะเร่งเตรียมความพร้อมให้แก่ธุรกิจไทย และเตรียมมาตรการบรรเทาผลกระทบให้ครอบคลุมทุกภาคส่วนที่อ่อนไหว เพื่อยกระดับธุรกิจไทยให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์สากล ซึ่งไม่ว่าไทยจะเข้าร่วมหรือไม่เข้าร่วมความตกลงการค้าใดๆ ในอนาคตไทยก็จำเป็นต้องปรับตัวให้ก้าวไปสู่อีกขั้นของการผลิตที่มีมาตรฐานสูงขึ้นอยู่ดี นอกจากนี้ ทางการไทยอาจต้องเตรียมพิจารณาให้น้ำหนักกับเรื่อง CPTPP มากขึ้นอีกถ้าหากสหรัฐฯ ตัดสินใจกลับเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของกรอบความตกลงนี้ในระยะข้างหน้า


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


เศรษฐกิจต่างประเทศ