Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 ธันวาคม 2563

สถาบันการเงิน

ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ปี 2564 ... ยังต้องจับตาผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3903)

คะแนนเฉลี่ย

​            ในช่วงที่ผ่านมาของปี 2563 ความเสี่ยงจากวิกฤตโควิด-19 ไม่เพียงส่งผลกระทบต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่ยังเพิ่มแรงกดดันต่อผลการดำเนินงานของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในหลายด้าน โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่า ภาพรวมกำไรสุทธิของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ (ระบบธพ. จดทะเบียนในไทย) จะปิดปี 2563 ที่ระดับ 1.44 แสนล้านบาท ซึ่งนับเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 9 ปี ตั้งแต่ปี 2555 เป็นต้นมา

            แม้เศรษฐกิจไทยน่าจะผ่านพ้นช่วงวิกฤตที่สุดมาแล้ว แต่เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2564 ยังมีความไม่แน่นอนสูง โดยเฉพาะในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งยังคงต้องระมัดระวังความเสี่ยงจากสถานการณ์โควิด-19 ระลอกใหม่ อาจส่งผลทำให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ยังต้องเผชิญกับโจทย์ท้าทายความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลัก ทั้งรายได้ดอกเบี้ย และรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย รวมไปถึงและเร่งจัดการปัญหาคุณภาพหนี้ในพอร์ต

            ภายใต้สมมติฐานที่เศรษฐกิจไทยในปี 2564 สามารถประคองอัตราการขยายตัวไว้ได้ที่ระดับ 2.6% ตามประมาณการของศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอาจบันทึกกำไรสุทธิในปี 2564 ที่ระดับ 1.48-1.54 แสนล้านบาท ขยับขึ้น 3.0-7.0% เมื่อเทียบกับฐานระดับกำไรสุทธิที่ต่ำของปี 2563 ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 ประกอบกับมีแรงหนุนจากการชะลอลงของค่าใช้จ่ายในการตั้งสำรองค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังจากที่ธนาคารพาณิชย์หลายแห่งเร่งกันสำรองฯ ไปมากในปี 2563 นอกจากนี้ในปี 2564 ยังเป็นช่วงที่ธนาคารพาณิชย์ยังได้รับอานิสงส์จากการผ่อนคลายเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ของธปท. ในกรณีที่สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างให้ลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด และยังไม่ต้องกันสำรองสำหรับวงเงินที่ยังไม่ได้เบิกใช้ด้วยเช่นกัน

            ​คงต้องยอมรับว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนจากความผันแปรของสถานการณ์โควิดระลอกใหม่น่าจะมีผลทำให้โจทย์ความสามารถในการประคองรายได้จากธุรกิจหลัก ควบคู่ไปกับการดูแลปัญหาคุณภาพหนี้ของธนาคารพาณิชย์ในปี 2564 มีความท้าทายไม่น้อยไปกว่าปี 2563 แต่อย่างไรก็ตาม ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สถานะทางการเงินของระบบธนาคารพาณิชย์จะยังมีความแข็งแกร่ง สะท้อนจากอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่สูงกว่าเกณฑ์ และมีอัตราส่วนเงินสำรองที่มีอยู่ต่อหนี้ด้อยคุณภาพ (NPL Coverage Ratio) ในระดับสูงประมาณ 1.4-1.5 เท่า  


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน