Display mode (Doesn't show in master page preview)

13 กันยายน 2565

สถาบันการเงิน

สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัล (Digital Personal Loan) …การเรียนรู้และปรับตัวของผู้ประกอบการ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3343)

คะแนนเฉลี่ย

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในปี 2565 การทำการตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลตามนิยามของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ใช้ข้อมูลทางเลือกในการพิจารณาสินเชื่อ คงมีลักษณะของการ “ทยอยเติบโต” มากกว่า โดยมียอดคงค้างที่ไม่สูงมากนัก ประมาณ 7,920 – 8,500 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 1 ของยอดคงค้างของสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบ1  เนื่องจากมีระยะเวลาการชำระคืนที่สั้น ขณะที่ทางฝั่งผู้ประกอบการก็ยังอยู่ในช่วงทดลองตลาด และถึงแม้ว่ากลุ่มลูกค้ารายย่อย Unserved และ Underserved เป็นกลุ่มที่ผู้ประกอบการทั้ง Bank และ Non-bank ต่างมุ่งหวังเข้าถึงเพื่อให้บริการ แต่ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวดี ประกอบกับปัญหาค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้น สวนทางกับรายได้ที่ยังคงเท่าเดิมหรือลดลงจากผลกระทบโควิด-19 จึงอาจทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการผิดชำระหนี้ในระดับสูง ผู้ประกอบการจึงอาจเริ่มต้นด้วยการให้วงเงินที่ไม่สูงมากนัก เพื่อหวังเก็บประวัติหรือพฤติกรรมการชำระเงินและต่อยอดสู่การให้บริการในวงเงินที่สูงขึ้น หรือการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินในรูปแบบที่เหมาะสมต่อไป  

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการยังคงต้องเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายหลากหลายประการ โดยเฉพาะด้านการนำข้อมูลลูกค้าที่มีอยู่มาใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบตัวตน ทำความรู้จักและเข้าใจในพฤติกรรมที่แท้จริงของลูกค้า เพื่อนำมาสู่การบริหารความเสี่ยง ต้นทุนการดำเนินการ ตลอดจนการพัฒนาโมเดลประเมินความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่จะทำให้สินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลจะสามารถเติบโตได้ในระยะข้างหน้า โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงระยะ 1-3 ปีจากนี้ ตลาดสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นของการเรียนรู้ และอาจยังคงต้องอาศัยเวลาอีกระยะในการพัฒนาและปรับปรุงโมเดลประเมินความเสี่ยงจากการประยุกต์ใช้ข้อมูลทางเลือกใหม่ๆ ที่หลากหลาย




---------------------------------------------------------------

  1เทียบกับยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลทั้งระบบ ณ ธันวาคม 2564

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน