สินเชื่อสุทธิของธนาคารพาณิชย์ไทย 14 แห่ง ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเดือน เม.ย. 2562 แม้เป็นเดือนแรกที่มาตรการ LTV สินเชื่อที่อยู่อาศัยเริ่มมีผลบังคับใช้ จากแรงหนุนของการเบิกใช้สินเชื่อในภาคธุรกิจ ประกอบกับสินเชื่อรายย่อยยังโตต่อเนื่อง ทั้งสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่โตดีตามยอดขายรถใหม่ และสินเชื่อบัตรเครดิตที่โตจากปัจจัยเชิงฤดูกาล แม้ว่าสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยจะมีสัญญาณชะลอลง หลังจากที่เร่งตัวขึ้นตลอด 2 ไตรมาสที่ผ่านมา ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอียังเผชิญข้อจำกัดในการฟื้นตัวตามทิศทางเศรษฐกิจในภาพรวม
ทั้งนี้ สินเชื่อสุทธิที่ขยับขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 อีก 2.67 หมื่นล้านบาทในเดือน เม.ย. ทำให้ยอดคงค้างสินเชื่อสุทธิพลิกเป็นบวกเล็กน้อยเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2561 ที่ 0.12%YTD อย่างไรก็ดี หากเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ภาพรวมสินเชื่อสุทธิชะลอการขยายตัวลงมาที่ 4.58%YoY จาก 4.98%
ในเดือน มี.ค. 2562
ด้านเงินฝากในเดือน เม.ย. 2562 เร่งขึ้นมากกว่าสินเชื่อ ทำให้ภาพรวมสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ผ่อนคลาย โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่รวมเงินกู้ยืม (Loan to Deposit+Borrowing: L/D+BE) ณ เม.ย. 2562 ปรับตัวลงมาที่ 91.59% จากระดับ 92.29% ในเดือน มี.ค. 2562 และ 92.71% ณ สิ้นปี 2561
ทั้งนี้ ยอดคงค้างเงินรับฝากในเดือน เม.ย. ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนถึง 1.39 แสนล้านบาท ในบัญชีทุกประเภททั้งบัญชีกระแสรายวัน ออมทรัพย์ และประจำ โดยเพิ่มขึ้นทั้งบัญชีบุคคลธรรมดา นิติบุคคล และเงินฝากภาครัฐ อย่างไรก็ดี เงินฝากที่เพิ่มขึ้นเกือบทั้งหมดมาจากธนาคารหลักเพียงไม่กี่แห่ง ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากโอกาสการขยายสินเชื่อ และปัจจัยพิเศษที่ทำให้แต่ละธนาคารมีความเคลื่อนไหวต่อการระดมเงินฝากแตกต่างกัน ขณะที่การแข่งขันด้านราคาไม่ใช่ปัจจัยที่เกิดขึ้นในระยะนี้ ซึ่งสอดคล้องกับสัญญาณอัตราดอกเบี้ยนโยบายของ ธปท. และความชัดเจนในการฟื้นตัวของภาพรวมสินเชื่อและเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี
สำหรับแนวโน้มในระยะถัดไป ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศในปีนี้ ยังมีโอกาสขยายตัวใกล้เคียงตัวเลขคาดการณ์ที่ 5.0% แต่จะติดตามปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแรงส่งการฟื้นตัวของภาพรวมสินเชื่อในระบบธนาคารพาณิชย์ในระยะข้างหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมและกำลังซื้อของภาคครัวเรือน ตลอดจนการปรับตัวของตลาดสินเชื่อรายย่อย หลัง ธปท. ส่งสัญญาณว่าอาจเพิ่มการใช้เครื่องมือที่หลากหลายในการกำกับดูแลสถาบันการเงินเพื่อลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยเฉพาะเกณฑ์การประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น