ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
ของไทยน่าจะมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.75% ในการประชุมครั้งที่ 5 ของปี
2562 ในวันที่ 7 สิงหาคม 2562 โดยประเด็นเสถียรภาพระยะยาว
ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่คณะกรรมการนโยบายการเงินให้น้ำหนักในช่วงนี้ ทั้งนี้คณะกรรมการนโยบายการเงินคงจะเผชิญกับโจทย์ที่ท้าทายมากขึ้นในการตัดสินใจด้านนโยบายการเงินภายใต้ปัจจัยเสี่ยงรอบด้าน
โดยเฉพาะปัจจัยเสี่ยงเชิงเสถียรภาพการเงินจากการเร่งตัวขึ้นของหนี้ภาคครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องที่อาจเป็นปัจจัยกดดันศักยภาพของการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระยะยาว
โดยธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศใช้มาตรการดูแลความเสี่ยงเฉพาะทาง (Macro และ Micro prudential) อาทิ การกำหนดเพดานอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน
(LTV ratio) ตลอดจน มาตรฐานดูแลคุณภาพสินเชื่อ อาทิ
การจำกัดอัตราส่วนความสามารถในการชำระหนี้ (Debt Service Coverage
Ratio: DSCR) ซึ่งคาดว่าจะประกาศใช้ในสิ้นปีนี้ ต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ในการปรับลดปัจจัยเสี่ยงเชิงเสถียรภาพ
มองไปข้างหน้า ปัจจัยเสี่ยงต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าคงมีน้ำหนักมากขึ้นในการตัดสินใจนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า ทั้งนี้
ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา แรงฉุดต่อการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปรากฏชัดเจนมากขึ้น
โดยเฉพาะภาคต่างประเทศอันเป็นผลจากข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนที่ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้นตามลำดับ
โดยล่าสุดสหรัฐฯ ประกาศเพิ่มการเก็บภาษีสินค้าจีนอัตราร้อยละ 10
กับสินค้ากลุ่มที่เหลืออยู่ 3 แสนล้านดอลลาร์ฯ ซึ่งจะมีผลวันที่ 1 กันยายน 2562
นอกจากนี้ ประเด็น Brexit
อาจจะมีผลต่อความผันผวนของการเคลื่อนย้ายเงินทุน อย่างไรก็ดี
คณะกรรมการนโยบายการเงิน คงรอติดตามผลจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลใหม่
นอกจากนี้ภาพรวมของตลาดการเงินที่ผ่อนคลายซึ่งอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะกลาง-ยาวปรับลดลง
0.3-0.9% จากช่วงต้นปีที่ผ่านมา ตลอดจน แรงกดดันจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ลดลง
อันเป็นผลจากมาตรการดูแลค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทยและการส่งสัญญาณของเฟดต่อการปรับนโยบายการเงินของเฟดในการประชุมรอบกรกฎาคม
2562 ว่าเป็นการปรับอัตราดอกเบี้ยกลางวัฎจักร
มิใช่การส่งสัญญาณถึงวัฎจักรอัตราดอกเบี้ยขาลงอาจจะช่วงลดแรงกดดันต่อปัจจัยการแข็งค่าของเงินบาท
น่าจะเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย
ซึ่งจากภาพของเศรษฐกิจดังกล่าว
ทำให้ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงจะประเมินทิศทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า
โดยคำนึงถึงปัจจัยเสี่ยงและปัจจัยหนุนดังที่กล่าวมาขั้นต้นอย่างรอบคอบโดยหากทิศทางของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังของปีมีแนวโน้มชะลอลงจากครึ่งแรก
คงจะเปิดโอกาสให้ กนง. มีการทบทวนความเหมาะสมของการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น