ธปท. ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยภาคเอกชนสู้โควิด-19 เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2563
ซึ่งโดยหลักๆ
แล้วจะเป็นการบรรเทาปัญหาสภาพคล่องและเสริมสภาพคล่องระยะสั้นให้กับผู้ประกอบการ SMEs
ซึ่งกำลังได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่มีแนวโน้มรุนแรงและต้องใช้เวลาอีกระยะในการคลี่คลายสถานการณ์
นอกจากนี้ ธปท. ยังมีมาตรการดูแลเสถียรภาพของตลาดตราสารหนี้เอกชนเพิ่มเติม
เพื่อให้ช่องทางการระดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้ของบริษัทที่มีคุณภาพยังทำงานได้ต่อเนื่อง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย
มองว่า มาตรการดังกล่าวถือว่ามีกรอบมูลค่าขนาดใหญ่เข้าใกล้ระดับ 1
ล้านล้านบาท ขณะที่ความรวดเร็วของการผลักดันมาตรการต่างๆ
ในทางปฏิบัตินั้น อาจแปรผันตามเงื่อนไขของแต่ละมาตรการ
รวมถึงบรรยากาศเศรษฐกิจในภาพรวม โดยความคืบหน้าของการเบิกใช้และการอนุมัติวงเงินสินเชื่อซอฟท์โลนเพิ่มเติมในทางปฏิบัติ
ยังขึ้นอยู่กับอีกหลายเงื่อนไขด้วยเช่นกัน ทั้งความพร้อมของลูกหนี้
และความสามารถในการรับส่วนสูญเสียจากการปล่อยสินเชื่อเพิ่มของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งที่แตกต่างกัน
ส่วนกองทุนเสริมสภาพคล่องตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน
(BSF) นั้น
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า แม้กลไกการทำงานของกองทุน BSF
ถูกออกแบบมาเพื่อช่วยลดปัญหาการระดมทุนเพื่อ Rollover หุ้นกู้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนของบริษัทที่มีคุณภาพ แต่ความสำเร็จในการ Rollover
หุ้นกู้ดังกล่าว
ยังขึ้นกับความสามารถของกิจการหรือบริษัทในการระดมทุนด้วยตนเองให้ถึงจำนวนกึ่งหนึ่งของจำนวนตราสารหนี้ที่ครบกำหนดไถ่ถอนตามเกณฑ์ของกองทุน
BSF ตั้งเงื่อนไขไว้ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และสำหรับการช่วยลดภาระเงินนำส่งกองทุนฟื้นฟูฯ
และการผ่อนคลายหลักเกณฑ์อื่นๆ คงมีผลในการช่วยแบ่งเบาภาระต้นทุนของสถาบันการเงินลงในภาวะที่รายรับดอกเบี้ยและค่าธรรมเนียมต่างๆ
หดหายไปจากการเดินหน้าโครงการพักชำระหนี้และปรับโครงสร้างหนี้ให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือน
รวมถึงภาระเพิ่มเติมจากมาตรการต่างๆ ในรอบนี้และที่อาจมีตามมาอีกในอนาคต
โดยภาพรวมแล้ว มาตรการที่ ธปท.
ออกมาสะท้อนถึงความพยายามและความตั้งใจของทางการที่จะแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
โดยมุ่งเน้นการช่วยเสริมสภาพคล่องของระบบการเงินไทย
ควบคู่ไปกับการพลิกฟื้นความเชื่อมั่นของตลาดการเงิน
เพื่อให้กลไกการทำงานของระบบการเงินยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ตามปกติ กระนั้นก็ดี
ปัจจัยสำคัญที่จะกำหนดผลสัมฤทธิ์ของมาตรการที่เพิ่งออกมาในครั้งนี้ คือ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั้งในและต่างประเทศ
อันจะทำให้มองเห็นภาพแนวโน้มเศรษฐกิจหลังจากนี้ชัดเจนขึ้น
และมีผลต่อเนื่องมายังความเชื่อมั่นของตลาดและนักลงทุน รวมถึงการประเมินแนวโน้มธุรกิจและความสามารถในการชำระหนี้ของกิจการ
โดยในกรณีที่การควบคุมการระบาดของไวรัสฯ เริ่มมีแนวโน้มที่ดีขึ้น ก็ย่อมจะทำให้มาตรการเสริมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการของทางการไทยในรอบนี้
มีความคืบหน้าและมีการใช้เม็ดเงินโครงการที่เต็มเม็ดเต็มหน่วยมากขึ้น สุดท้ายแล้ว
ก็คงจะส่งผลดีต่อประสิทธิผลในการฟื้นกลไกทางการเงินให้กลับสู่ปกติได้อย่างรวดเร็วสมดังเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้
หมายเหตุ
รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น