Display mode (Doesn't show in master page preview)

12 เมษายน 2562

สถาบันการเงิน

มาตรการควบคุมสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ ... ส่งเสริมเสถียรภาพธุรกิจและผู้กู้ระยะยาว (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 2981)

คะแนนเฉลี่ย

​            ธปท. ส่งสัญญาณเตือนความเสี่ยงจากการให้สินเชื่อเช่าซื้อรถมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากพฤติกรรมการแข่งขันของสถาบันการเงินที่ให้สินเชื่อ (ไฟแนนซ์) บางราย ที่ร่วมกับค่ายรถยนต์และดีลเลอร์รถบางแห่ง ให้สินเชื่อเกินมูลค่าหลักประกัน โดยไม่นำส่วนลดเงินสดที่ลูกค้าได้รับมาหักออกจากราคารถ และ/หรือสร้างราคาขายสูงกว่าราคาจากบริษัท ซึ่งมีผลให้ลูกค้าบางรายอาจจ่ายเงินดาวน์ในจำนวนที่น้อยมากหรือไม่ต้องจ่ายเลยก็สามารถซื้อรถได้ และในบางกรณีถึงกับได้รับเงินก้อนคืนเมื่อออกรถ จึงกระตุ้นความต้องการซื้อรถให้สูงขึ้นเกินปัจจัยพื้นฐาน โดยเฉพาะในกลุ่มลูกค้าที่ไม่มีความพร้อมด้านการเงิน ขณะที่ยอดขายรถในประเทศปี 2561 ถีบตัวขึ้นไปสูงถึง 1.04 ล้านคัน และยอดคงค้างสินเชื่อเช่าซื้อรถในระบบสถาบันการเงิน (ไม่รวม Captive Finance) เพิ่มขึ้น 12.6% เป็น 1.07 ล้านล้านบาท ซึ่งนับเป็นอัตราการเติบโตที่สูงที่สุดในรอบ 6 ปี

          ทั้งนี้ ยังต้องติดตามการส่งสัญญาณเตือนของ ธปท. ในรอบนี้ ว่าหลังการสุ่มตรวจสอบเชิงลึกในกระบวนการพิจารณาเครดิตของธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งแล้ว จะนำไปสู่การยกระดับการบังคับใช้มาตรการที่เข้มข้นขึ้น เหมือนในกรณีการคุมสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ที่เพิ่งมีผลเมื่อ 1 เมษายนที่ผ่านมาหรือไม่ อย่างไรก็ดี ภาพรวมตลาดรถยนต์ในประเทศและแนวโน้มสินเชื่อเช่าซื้อรถในปี 2562 อยู่ในสถานะที่ประคองตัวอยู่แล้ว จากปัจจัยลบหลายประการ รวมถึงทิศทางการชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่หาก ธปท. ออกมาตรการเพิ่มเติมในช่วงต้นไตรมาส 3 ปีนี้ อาทิ กำหนดเงินดาวน์ขั้นต่ำ 20-25% อาจมีผลให้ยอดขายรถยนต์หดตัวลงมากขึ้น ขณะที่การขยายตัวของสินเชื่อเช่าซื้อรถในปีนี้คงชะลอลง ซึ่งระดับของผลกระทบยังขึ้นอยู่กับจังหวะเวลาของการบังคับใช้ด้วย  

         ​ โดยสรุป การที่ ธปท. ส่งสัญญาณเข้าตรวจสอบมาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อเช่าซื้อรถยนต์ ไม่ว่าผลสรุปสุดท้ายจะนำไปสู่มาตรการที่เข้มงวดขึ้นหรือไม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เชื่อว่า น่าจะมีส่วนช่วยกระตุ้นให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงการรักษากฎกติกาการแข่งขันให้มีมาตรฐานและคำนึงถึงความพร้อมและความสามารถทางการเงินของลูกหนี้ เพื่อสร้างเสถียรภาพในการดำเนินธุรกิจระยะยาว ขณะเดียวกัน ยังทำให้กลไกการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านสินเชื่อครอบคลุมถึงสินเชื่อที่มีหลักประกันเป็นรถยนต์ทั้งระบบ ตั้งแต่ตลาดแรกที่เชื่อมผู้บริโภคและผู้ผลิตรถ ไปจนถึงตลาดรอง ทั้งสินเชื่อรถมือสอง และการนำรถยนต์กลับมาเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อใหม่ (สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ) ซึ่งล้วนแล้วแต่มีการทยอยออกกฎหมายและหลักเกณฑ์การดูแลการให้สินเชื่อ อาทิ ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญา พ.ศ. 2561 ของสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และการกำหนดให้ธุรกิจสินเชื่อที่มีทะเบียนรถเป็นหลักประกันเป็นธุรกิจที่ต้องขอรับอนุญาต ซึ่งทำให้กลไกสินเชื่อเกี่ยวกับรถยนต์มีมาตรฐานในการคัดกรองความสามารถในการก่อหนี้ของลูกหนี้ ผู้บริโภคได้รับความเป็นธรรมในการใช้บริการ และไม่สะสมความเสี่ยงเชิงระบบต่อภาคการเงินและระบบเศรษฐกิจในระยะยาว 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


สถาบันการเงิน