Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ตุลาคม 2562

K SME Analysis

ตลาดค้าปลีก กัมพูชา โอกาสทำเงิน SME ไทย

คะแนนเฉลี่ย

​​​การเติบโตของธุรกิจค้าปลีกในกัมพูชามีความน่าสนใจอย่างมากโดยยอดค้าปลีกล่าสุดมีมูลค่าราว  27 ล้านล้านเรียล เติบโตราวร้อยละ 8.5 ในปี2561 อีกทั้งมีแนวโน้มว่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่าร้อยละ 8 ต่อเนื่องไปอีกในระยะ 5 ปีข้างหน้า มาจากแรงขับเคลื่อนในฝั่งผู้ประกอบการที่เข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกอย่างคึกคักมีผู้เล่นหลากหลายสัญชาติไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่น มาเลเซีย จีนและไทย ประกอบกับเศรษฐกิจในปี 2561 ที่ผ่านมามีการเติบโตค่อนข้างดีที่ร้อยละ 7.3 นำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของจำนวนชนชั้นกลางเช่นเดียวกับหลายประเทศในอาเซียนก็ได้กลายมาเป็นกำลังซื้อที่สำคัญ นับเป็นโอกาสสำหรับสินค้าของไทยในกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูงเข้าทำตลาดเพิ่มเติมที่จากเดิมที่ทำตลาดกลุ่มคนส่วนใหญ่ในกัมพูชาได้อยู่แล้ว โดยตลาดสำหรับสินค้ามูลค่าเพิ่มสูงกระจุกตัวในเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญ อาทิ พนมเปญ กันดาล พระตะบอง เสียมราฐ และสีหนุวิวล์​

​​​​


ในปัจจุบันกำลังซื้อของกัมพูชามีค่อนข้างจำกัดด้วยรายได้ต่อหัวเพียง 1,458 ดอลลาร์ฯ/คน/ปี เกือบจะต่ำที่สุดในอาเซียน (เมียนมาต่ำสุด) แต่ด้วยข้อจำกัดทางการผลิตในประเทศทำให้ต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเพื่อการบริโภคจากต่างประเทศเป็นหลัก โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา กัมพูชานำเข้าสินค้าจากไทยมีมูลค่า 7.6 พันล้านดอลลาร์ฯ และสินค้าไทยสามารถครองใจผู้บริโภคชาวกัมพูชาได้อย่างเหนียวแน่น แม้ว่ากัมพูชาจะนำเข้าสินค้าไทยเป็นอันดับ 2 รองจากจีน แต่การนำเข้าสินค้าจากจีนล้วนเป็นวัตถุดิบสิ่งทอเพื่อการผลิตเสียมากกว่าจึงนับว่าสถานะของสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยค่อนข้างโดดเด่นมีโอกาสทำตลาดต่อยอดไปยังผู้บริโภคกลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงโดยผ่านช่องทางร้านค้าปลีกสมัยใหม่ที่สามารถจับตลาดกำลังซื้อตั้งแต่ชนชั้นกลางขึ้นไปและกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาเยือนกัมพูชาปีละประมาณ 6.2 ล้านคน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนมีถึง 1.2 ล้านคน​​


 

การส่งสินค้าของ SME ไทยไปจำหน่ายในกัมพูชาทำได้ทั้งการขนส่งทางบกและทางเรือ แต่ก็ขึ้นอยู่กับลักษณะสินค้าและเป้าหมายตลาดที่ต้องการนำไปวางจำหน่าย กล่าวคือ การส่งสินค้าทางถนนผ่านชายแดนไทยเป็นช่องทางที่ขนส่งสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวัน และเป็นทางผ่านของสินค้าส่งออกไทยครึ่งหนึ่งไปกัมพูชา โดยผ่านบริเวณจังหวัดสระแก้วและตราดเป็นหลักเนื่องจากมีถนนเชื่อมต่อไปยังพื้นที่ต่างๆ ของกัมพูชาบริเวณตอนเหนือและผ่านแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร เครื่องดื่ม น้ำอัดลม นม ขนมขบเคี้ยว อาหารเสริม น้ำตาลทราย ยารักษาโรค สินค้าความงาม เครื่องใช้ในครัวเรือน รวมถึงสินค้าขนาดใหญ่อย่างยานพาหนะ ยางรถยนต์ อะไหล่รถยนต์และวัสดุก่อสร้าง ซึ่งใช้ระยะเวลาขนส่งเพียง 2-3 วัน จากชายแดนจังหวัดตราดไปสู่เมืองหลวงในกรุงพนมเปญ สำหรับจังหวัดชายแดนอื่นเป็นการซื้อขายเพื่อใช้ในชีวิตประจำวันจึงมีปริมาณการค้าค่อนข้างน้อย อาทิ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ สุรินทร์ บุรีรัมย์ และจันทบุรี ขณะที่การส่งออกอีกครึ่งหนึ่งเป็นการขนส่งสินค้าทางเรือ โดยปลายทางของสินค้าเป็นพื้นที่ตอนใต้ของประเทศโดยไปสิ้นสุดที่กรุงพนมเปญ โดยผ่านท่าเรือในจังหวัดตราดมายังท่าเรือน้ำลึกนานาชาติของกัมพูชาที่สีหนุวิลล์ จากนั้นจะใช้การขนส่งทางถนนต่อไปยังกรุงพนมเปญที่ห่างออกไปอีกราว 230 กิโลเมตร หรืออาจส่งต่อไปยังเวียดนามได้อีกทางหนึ่ง สินค้าที่ส่งผ่านเส้นทางนี้มีสินค้าอุปโภคบริโภคด้วยเช่นกัน แต่เส้นทางนี้ส่วนใหญ่ใช้ขนส่งสินค้าน้ำมันดิบ ทองคำ และน้ำตาลทราย เป็นต้น

     ดังนั้น โอกาสของ SME ในการส่งสินค้าไปจำหน่ายในกัมพูชาให้ได้ประสิทธิภาพควรติดต่อหาบริษัทผู้นำเข้าในกัมพูชาเพื่อให้เป็นตัวแทนในการสินค้าไทยเข้าไปจำหน่ายและกระจายสู่ร้านค้าปลีกตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับบน ทั้งยังช่วยอำนวยความสะดวกลดต้นทุนทางธุรกิจได้หลายด้าน อาทิ พิธีการทางศุลกากร การเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม การขนส่งและกระจายสินค้าที่ยังไม่สะดวก โดยสินค้าไทยที่มีโอกาสขณะนี้ไม่เพียงแค่สินค้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทำตลาดได้อยู่แล้วเท่านั้น แต่ควรยกระดับสินค้าด้วยการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ สร้างความแปลกใหม่ เน้นจับตลาดลูกค้าผ่านร้านค้าปลีกสมัยใหม่ อาทิ เครื่องดื่มและอาหารสุขภาพ อาหารพร้อมรับประทาน เครื่องสำอางทำจากธรรมชาติ ผลิตภัณฑ์สปา และของแต่งบ้าน ซึ่งสินค้าเหล่านี้สามารถตอบโจทย์การบริโภคกลุ่มนักธุรกิจและนักท่องเที่ยว ในเมืองเศรษฐกิจ เมืองการท่องเที่ยวและพื้นที่ลงทุนที่สำคัญของกัมพูชา อันเป็นอีกช่องทางในการต่อยอดธุรกิจที่ไม่ควรมองข้าม ทั้งนี้ SME ไทยที่สนใจนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในกัมพูชาสามารถติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์ (www.ditp.go.th) ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานส่งเสริมการค้าตั้งอยู่ในเมืองหลวงกรุงพนมเปญ สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทำธุรกิจที่กัมพูชาได้​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

K SME Analysis