Display mode (Doesn't show in master page preview)

14 มิถุนายน 2562

K SME Analysis

ตลาด E-commerce เวียดนาม โอกาสทำเงิน SME ไทย

คะแนนเฉลี่ย

​​ธุรกิจการค้าผ่านช่องทางออนไลน์ของเวียดนามเติบโตด้วยหลายปัจจัยผลักดัน ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานตั้งแต่เวียดนามเริ่มเข้าถึงอินเทอร์เน็ตในปี 2540 จนกระทั่งปัจจุบันมีจำนวนประชากรเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงถึง 64 ล้านคน คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 68.3 ของประชากรทั้งประเทศที่มี 93.7 ล้านคน ขณะเดียวกันปัจจัยด้านรายได้ที่เพิ่มขึ้นตามความร้อนแรงทางเศรษฐกิจก็ผลักดันให้ชาวเวียดนามสามารถครอบครองโทรศัพท์เคลื่อนที่จนมีสัดส่วนถึงร้อยละ 74.7 ต่อจำนวนประชากร ในปี 2561 นอกจากนี้ เวียดนามยังเป็นตลาดที่มีประชากรอยู่ในวัยหนุ่มสาวถึงเกือบร้อยละ 50 เป็นกลุ่มคนที่เกิดในยุคมิลเลนเนียม (เกิดในปี 2524-2539) และกลุ่ม Generation Z (เกิดในปี 2540-2553) ซึ่งคุ้นเคยกับเทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นอย่างดี จะเห็นได้ว่ากระแสธุรกิจค้าผ่านออนไลน์ในเวียดนามมีสัญญาณเติบโตอย่างน่าสนใจ อีกทั้งลักษณะการบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์ก็คล้ายคลึงกับประเทศไทย ซึ่งมีกลุ่มประชากรผู้หญิงเป็นกำลังซื้อหลักและสินค้าไลฟ์สไตล์น่าจะเป็นที่ต้องการ จึงเป็นโอกาสของธุรกิจ SME ไทยให้สามารถส่งสินค้าไปจำหน่ายตอบโจทย์การบริโภคในเวียดนามโดยเฉพาะประชากรในเขตเมือง ชนชั้นกลางขึ้นไป ที่มีกำลังซื้อสินค้าจากต่างประเทศและเข้าถึงช่องทางการซื้อสินค้าผ่าน E-commerce โดยสินค้าไทยที่มีโอกาส อาทิ อาหารไทย อาหารสำเร็จรูป เครื่องสำอางออร์แกนิค และของแต่งบ้าน​



 โอกาสของ SME ไทยผ่านช่องทางการค้าออนไลน์ในเวียดนามสามารถทำได้ทั้งผ่าน E-Market Place และสื่อโซเชียล (Social Media) ซึ่งการทำธุรกิจผ่านทั้งสองช่องทางผู้ประกอบการควรมีพาร์ทเนอร์ในเวียดนามเพื่อช่วยในการตอบคำถามลูกค้าและการบริการหลังการขายที่จำเป็นต้องเข้าใจทั้งภาษาและพฤติกรรมของชาวเวียดนาม ในกรณีที่ SME ไทยที่เพิ่งเริ่มทำตลาดในเวียดนามควรทำธุรกิจผ่าน E-Market Place ที่มีทั้งแพลตฟอร์มของเวียดนามเองและของต่างประเทศที่เข้าไปขยายธุรกิจในเวียดนาม อาทิ Lazada, Vat gia, Sendo, Shopee และ Tiki โดยเว็บไซต์เหล่านี้มีหน้าที่เป็นตัวกลางระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายให้บริการการทำโปรโมชั่น การขนส่งสินค้า รวมทั้งให้บริการรับชำระเงินปลายทาง (Cash-on-Delivery: COD) ซึ่ง SME ไทยทำเพียงแค่ส่งสินค้าไปให้เว็บไซต์เหล่านี้บริหารจัดการ ช่วยลดความเสี่ยงจากขั้นตอนยุ่งยากในการทำธุรกิจด้านต่างๆ ได้ อย่างไรก็ดี การค้าผ่านช่องทางนี้ยังไม่เป็นที่นิยมในเวียดนามมากนักเมื่อเทียบกับการค้าผ่านสื่อโซเชียล ในกรณีที่ SME ไทยมีความเชี่ยวชาญในตลาดเวียดนามและจัดตั้งธุรกิจในเวียดนามอยู่แล้ว การค้าผ่านสื่อโซเชียลก็น่าจะเป็นโอกาสเพิ่มยอดขายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องสามารถบริหารความเสี่ยงในการรับชำระเงินค่าสินค้าปลายทางได้เอง รวมทั้งยังต้องจัดหาผู้ให้บริการขนส่งเพื่อส่งสินค้าเอง ซึ่งในปัจจุบันมีผู้ให้บริการขนส่งหลากหลาย อาทิ Giaohangnhanh, Supership, Giaohangtietkiem, DHL eCommerce, Grab Express และ Lazada Express ทั้งนี้ สื่อโซเชียลก็มีข้อดีตรงที่สามารถติดต่อสื่อสารกับผู้บริโภคชาวเวียดนามได้อย่างฉับไว สามารถรีวิวสินค้า ทำโปรโมชั่น และใช้ข้อมูลสื่อโซเชียลทำการตลาดให้ตรงกลุ่มเป้าหมายได้ โดยสื่อโซเชียลที่นิยมในเวียดนามประกอบด้วย Facebook, Zalo และ Instagram


​​ การค้าผ่าน E-commerce จะต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจอย่างถูกต้องที่ www.online.gov.vn เพื่อให้ได้ใบอนุญาตประกอบธุรกิจค้าออนไลน์ โดยธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 4,400 ดอลลาร์สหรัฐฯ/ปี ไม่ต้องเสียภาษี นอกจากนี้ ธุรกิจยังต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 1-5 และภาษีเงินได้นิติบุคคลร้อยละ 0.5-2.0 ซึ่งขึ้นอยู่กับประเภทธุรกิจที่จดทะเบียน อย่างไรก็ดี ความท้าทายของผู้ประกอบการไทยมี 2 ประเด็นหลัก คือ ด้านการชำระเงินผู้บริโภคชาวเวียดนามยังขาดความเชื่อมั่นในการชำระค่าสินค้าด้วยรูปแบบออนไลน์ ทำให้ส่วนใหญ่ราวร้อยละ 80 ยังเป็นการชำระเงินสดที่ปลายทาง (COD) ตามมาด้วยการโอนเงินผ่านระบบธนาคาร บัตรเครดิต กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (E-wallets) และด้านการขนส่งในประเทศยังค่อนข้างล่าช้า หากการขนส่งสินค้าแบบปกติทางไปรษณีย์ อาทิ การขนส่งทางรถระหว่างฮานอยกับโฮจิมินห์ใช้เวลานานถึง 3 วัน ทั้งนี้ สำหรับ SME ไทยที่สนใจทำธุรกิจ E-commerce ในเบื้องต้นสามารถติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ (www.ditp.go.th) ซึ่งมีเครือข่ายตั้งอยู่ทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทำธุรกิจที่เวียดนามได้​​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

K SME Analysis