Display mode (Doesn't show in master page preview)

5 พฤศจิกายน 2562

K SME Analysis

ช่องทางค้าออนไลน์จีน โอกาสทำเงิน SME ไทย

คะแนนเฉลี่ย

​​การบริโภคในจีนเข้าสู่กระแสออนไลน์ชัดเจน จะเห็นได้จากจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแตะ 854 ล้านคน (ข้อมูล ณ เดือน มิ.ย. 2562) คิดเป็นร้อยละ 61.2 ของประชากรจีน และในจำนวนดังกล่าว เป็นการใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึงกว่าร้อยละ 98 ความสะดวกดังกล่าวทำให้ช่องทางการซื้อขายออนไลน์ หรือ E-Commerce กลายเป็นช่องทางจับจ่ายที่สำคัญของผู้บริโภคชาวจีน ซึ่งการเจาะตลาดผ่านช่องทางนี้น่าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายตลาดให้กับผู้ประกอบการ SME ได้​


 การเจาะตลาดจีนผ่าน E-Commerce ในแต่ละ Online Platform มีแนวโน้มแข่งขันกันรุนแรงขึ้นซึ่งผู้ประกอบการไทยอาจเผชิญความท้าทายอย่างมาก ทั้งกระบวนการที่ยุ่งยากซับซ้อนแตกต่างกันไป โดยผู้ประกอบการ SME ของไทย ควรเลือกช่องทางออนไลน์ให้เหมาะสมกับแต่ละธุรกิจ ซึ่งแบ่งได้เป็น 2 ประเภทหลัก คือ 1) E-Commerce แบบทั่วไป ซึ่งผู้ที่สนใจต้องจดทะเบียนประกอบธุรกิจในจีนหรือใช้คนกลางช่วยทำธุรกิจ เป็นช่องทางที่เกิดขึ้นเป็นช่องทางแรกสำหรับการขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ในจีน ทำให้กฎระเบียบค่อนข้างชัดเจน และผู้บริโภคชาวจีนมั่นใจ คุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์ อาทิ Taobao, Tmall, Dangdang และ JD.com 2) Cross-Border E-Commerce เหมาะสำหรับผู้ประกอบการที่เป็นบริษัทจดทะเบียนในต่างประเทศสามารถเข้าสู่ออนไลน์ของจีนได้ง่ายขึ้นผ่าน Tmall Global และ JD Worldwide ซึ่งรัฐบาลจีนให้การสนับสนุน ผ่อนผันกฎหมายและกฎระเบียบให้เอื้อต่อการทำธุรกิจระหว่างประเทศ

     นอกจากนี้ รูปแบบการชำระเงินออนไลน์ของจีนก็ยังมีลักษณะเฉพาะตัว ซึ่งการชำระเงินผ่าน Alipay น่าจะสอดคล้องกับธุรกิจต่างชาติที่ทำธุรกิจผ่าน Website ตัวกลางในจีน แม้ว่าการค้าออนไลน์ในจีนจะสามารถชำระเงินด้วยบัตรเครดิตได้เหมือนกับ Website ทั่วไป แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากเท่าการชำระเงินแบบผ่านตัวกลางของจีน ที่ชาวจีนให้ความเชื่อมั่นมากกว่า และมีความสะดวกกับผู้ค้าต่างชาติเพราะไม่ต้องมีบัญชีในจีน หรือกล่าวคือมีธนาคารในแต่ละประเทศเป็นตัวกลางประสานงานกับ Alipay ทั้งนี้ ตัวกลางชำระเงินในจีนมี 3 ช่องทางหลัก คือ Alipay, Tenpay และ UnionPay โดยการชำระเงินผ่าน Alipay ได้รับความนิยมมากที่สุด สามารถให้บริการชำระเงินทั้งผ่าน Website และผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ด้วยหลากหลายสกุลเงิน สำหรับ Tenpay เน้นการชำระเงินผ่านการทำธุรกรรม WeChat และ UnionPay เป็นการชำระเงินด้วยสกุลเงินหยวน (RMB) ผ่านการตัดบัญชีบัตรเครดิต 

     ทั้งนี้ โอกาสของธุรกิจ SME ไทย นับว่ามีความท้าทายอย่างมากด้วยสภาพการแข่งขันในตลาดจีนที่ค่อนข้างสูง ดังนั้น ธุรกิจไทยจำเป็นต้องหาตัวแทนจำหน่ายที่มีความเชี่ยวชาญให้ช่วยนำสินค้าไทยไปทำตลาด ผ่านกลุ่มตัวแทนจำหน่ายทั้งที่เป็นชาวจีนและชาวไทยที่ทำธุรกิจขายสินค้าอยู่บน Online platform ของจีน (ฝากขาย) โดยอาจจะเลือกจากคนที่อยู่ใน Online Platform ที่เป็นที่รู้จักหรือเป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวจีน เช่น Taobao, Tmall, Dangdang หรือเลือกจากคนที่มีใบอนุญาตการทำธุรกิจออนไลน์ในจีน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในระยะต่อไปเมื่อผู้ประกอบการเชี่ยวชาญแล้วก็สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้โดยการจดทะเบียนอยู่บน Online platform ของจีน จำเป็นต้องรู้ภาษาจีน รวมทั้งศึกษาหรือทำความเข้าใจอย่างละเอียด เช่น จะต้องเป็นนิติบุคคล มีการเปิดบัญชีการชำระเงินในจีน หรืออาจจะมีการวางแผนจัดส่งสินค้า การสต็อกสินค้า และการรับคืนสินค้าด้วยตนเอง

     สำหรับธุรกิจ SME ที่เปิดบริษัทที่ไทยและมีแบรนด์ สามารถส่งสินค้าตรงจากไทยผ่าน Website ตัวกลางขายสินค้าออนไลน์ข้ามพรมแดน (Cross-Border E-Commerce) ได้ ส่วนใหญ่จะเป็น Website ขนาดใหญ่ ที่เป็นพันธมิตรหรือมีความร่วมมือกับผู้ที่เกี่ยวข้องในจีนทั้งที่เป็น Website ของผู้ประกอบการจีน อาทิ International Tmall, JD Worldwide, Kua Jing Tong และเป็นความร่วมมือของผู้ประกอบการไทยและจีน อาทิ ThaiOneMall รวมถึง Website ของหน่วยงานภาครัฐของไทย ที่เอื้อต่อการทำธุรกิจออนไลน์ข้ามประเทศ อาทิ Thaitrade.com ทั้งนี้ รัฐบาลจีนมีนโยบายสนับสนุนการค้าผ่าน Cross-Border E-Commerce จึงมีการผ่อนผันเงื่อนไขการตรวจสอบมาตรฐานสินค้านำเข้า ทำให้ช่วยลดค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการและช่วยลดระยะเวลาในการนำเข้าสินค้า มีการนำเข้าสินค้าเสียภาษีในอัตราที่ต่ำกว่าการนำเข้าทั่วไป แต่มีค่าใช้จ่ายหรือค่าดำเนินการ อาทิ เงินประกันการปฏิบัติตามสัญญา ค่าธรรมเนียมรายปี ส่วนแบ่งจากยอดขาย​
 
นอกจากนี้ กลยุทธ์สำหรับผู้ประกอบการ SME ไทยในการเจาะตลาดออนไลน์ผู้บริโภคชาวจีนที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก คือ ความโดดเด่นของสินค้าไทยเนื่องจากการแข่งขันในจีนสูงมาก รวมทั้งคุณภาพของสินค้าก็สำคัญในการสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคและสร้างความโดดเด่นให้แก่สินค้าไทยได้ดีกว่าสินค้าในจีน อาทิ เครื่องสำอาง อาหารและสุขภาพ สินค้าแม่และเด็ก เสื้อผ้าและรองเท้า ของแต่งบ้าน อุปกรณ์กีฬา กระเป๋าและกระเป๋าเดินทาง เครื่องใช้ไฟฟ้า และของเล่น ตามลำดับ ซึ่งการเลือกสินค้าของชาวจีนจะให้ความสำคัญกับแบรนด์สินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือรีวิวจากผู้ใช้งานจริง ตามมาด้วยคุณภาพ ชื่อเสียง และราคา ตามลำดับ ซึ่งในประเด็นเหล่านี้ล้วนมีผลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า  นอกจากนี้ การรวมกลุ่มของผู้ประกอบการ SME ไทยเพื่อเข้ามาทำตลาดออนไลน์ในจีนร่วมกัน ก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในด้านต่างๆ แล้ว ยังจะเป็นการเพิ่มความแข็งแกร่งและเพิ่มอำนาจการต่อรองได้ เนื่องจากตลาดจีนถือว่าเป็นตลาดที่ซับซ้อนและมีการแข่งขันที่สูงมาก อีกทั้งการรวมกลุ่มกันเข้ามาทำธุรกิจนั้น น่าจะช่วยลดความเสี่ยงในด้านต่างๆ ได้ในระดับหนึ่ง​​
 
 ทั้งนี้ ตลาด E-Commerce ของจีนจะยังมีแนวโน้มเติบโตได้อีกมาก และมีการขยายตลาดครอบคลุมพื้นที่ภายในประเทศมากขึ้น โดยมีปัจจัยหนุนสำคัญ ได้แก่ การสนับสนุนของรัฐบาลจีนในการพัฒนาและขยายโครงข่ายโทรคมนาคม ระบบโลจิสติกส์ และการเข้ามามีบทบาทดูแลการซื้อขายออนไลน์  ทั้งนี้ เป็นที่สังเกตว่า สินค้าไทยหลายๆ รายการที่ติดตลาดหรือเป็นที่นิยมในจีน มีจุดเริ่มต้นมาจากการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักกับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในไทยผ่านไกด์ทัวร์ หลังจากนั้น ลูกทัวร์หรือนักท่องเที่ยวจีนเริ่มสนใจในตัวสินค้าและอยากนำไปขายเองโดยไม่ต้องผ่านไกด์ และเมื่อแบรนด์เริ่มติดตลาดจากการรีวิวสินค้า หรือการบอกต่อของผู้บริโภคชาวจีน สินค้านั้นก็เริ่มก้าวเข้าสู่ตลาดจีนแบบเต็มตัว ดังนั้น สินค้าของผู้ประกอบการ SME บางตัวอาจจะเริ่มเจาะตลาดคนจีนผ่านกลุ่มนักท่องเที่ยวชาวจีนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในประเทศไทยก่อนในระยะแรกก็ได้เช่นกัน

     อย่างไรก็ดี การเข้าไปเจาะตลาดออนไลน์ในจีนก็อาจจะยังมีอุปสรรค ที่ผู้ประกอบการ SME ของไทยจะต้องพึงระวัง โดยมีประเด็นที่สำคัญๆ ดังนี้ 1) การสื่อสารโดยใช้ภาษาจีนเป็นหลัก ถือเป็นปัจจัยและกลยุทธ์แรกสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่จะเข้าสู่ตลาดออนไลน์ของจีน เนื่องจากหากผู้ประกอบการต้องการเข้าถึงผู้บริโภคชาวจีน การดำเนินการทุกอย่างเกี่ยวกับการขายก็จะต้องใช้ภาษาจีนเป็นหลักในการสื่อสารกับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณา การนำเสนอและบรรยายรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้า หรือบริการต่างๆ 2) กฎหมายหรือกฎระเบียบต่างๆ ในการทำธุรกิจออนไลน์ กฎระเบียบต่างๆ มักมีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย และมีรายละเอียดปลีกย่อยที่ต่างกันในแต่ละมณฑล 3) การจดทะเบียนตราสินค้า (Trade Mark) เพื่อป้องกันการลอกเลียนแบบตราสินค้า ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องเตรียมรับมือกับปัญหาดังกล่าวที่เกิดขึ้น ดังนั้นในระยะเริ่มต้นผู้ประกอบการ SME จำเป็นต้องมีเครือข่ายและพันธมิตรในจีน เพื่อเป็นตัวแทนจำหน่าย หรือช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเข้าสู่ตลาด การชำระเงิน การจัดส่งสินค้า รวมถึงการให้บริการหลังการขาย ซึ่งผู้บริโภคชาวจีนค่อนข้างคาดหวังกับบริการที่สะดวกและรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการจัดส่งสินค้าได้อย่างรวดเร็ว การส่งสินค้ากลับคืน และการติดต่อกับลูกค้า ซึ่งผู้ประกอบการ SME จะต้องมีความระมัดระวังรอบคอบในการเลือกคนจีนที่เชื่อถือได้มาเป็นพันธมิตร และจะต้องเป็นผู้ที่มีประสบการณ์และมีความเชี่ยวชาญทางด้าน E-Commerce ในจีนอย่างแท้จริงด้วย​

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

K SME Analysis