Display mode (Doesn't show in master page preview)

25 ตุลาคม 2562

K SME Analysis

กลยุทธ์ (ไม่เบสิก) พาธุรกิจออนไลน์พิชิตคู่แข่ง

คะแนนเฉลี่ย

​ตลาดค้าปลีก Online ในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง โดยคาดว่าในช่วงระยะ 2-3 ปีนับจากนี้ ตลาดจะยังคงขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 18.0 ต่อปี หรือมีมูลค่าตลาดกว่า 330,000-335,000 ล้านบาทในปี 2563  สัญญาณดังกล่าวเหมือนจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการที่สนใจจะทำธุรกิจค้าปลีก Online โดยเฉพาะผู้ประกอบการ SME เนื่องจากเป็นช่องทางที่สะดวกและลงทุนไม่สูงนัก อีกทั้งยังมีโอกาสเข้าถึงฐานลูกค้าได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว แต่ถึงกระนั้น ด้วยสภาพการแข่งขันของตลาดที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการโหมทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการ E-Market Place รายใหญ่ และแม้ว่ามุมหนึ่งจะเป็นเสมือน Platform ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการ SME แต่ในอีกมุมหนึ่ง ก็อาจจะต้องเผชิญการแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ ที่อยู่ใน E-Market Place อีกจำนวนมาก และที่น่าสนใจคือ หากเจ้าของ E-Market Place กลายเป็นผู้นำสินค้าเข้ามาแข่งด้วยตนเอง โดยอาศัยการเข้าถึงฐานข้อมูลของลูกค้าที่เข้ามาใช้จ่ายผ่าน Platform ของตนเอง สามารถรับรู้พฤติกรรมเชิงลึกในการเลือกซื้อสินค้าออนไลน์ของลูกค้า ว่าสินค้าอะไรขายดี ประกอบกับการเน้นแข่งขันทางด้านราคา ก็อาจจะกลายเป็นคู่แข่งที่นำสินค้าเข้ามาแข่งกับผู้ประกอบการ SME ซึ่งมีความเสียเปรียบในเรื่องของเงินทุน และเผชิญความยากลำบากในการแข่งขันมากขึ้น​

 

สะท้อนได้จากการทำ Focus Group กลุ่มผู้ประกอบการ SME ที่ประกอบธุรกิจ Online พบว่า ผู้ประกอบการกว่าร้อยละ 70.0 เผชิญปัญหาหรืออุปสรรคในการทำธุรกิจ Online โดยอุปสรรคที่มีผลต่อการทำธุรกิจ Online ของผู้ประกอบการ SME มากที่สุด ได้แก่ อุปสรรคในการขายสินค้าที่ผู้ประกอบการต้องเผชิญมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 98.0 ของผู้ประกอบการที่ทำ Focus Group ทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนคู่แข่ง โดยเฉพาะการเข้ามาทำตลาดเองของกลุ่มผู้ประกอบการต่างชาติ ซึ่งมีความได้เปรียบในเรื่องของต้นทุน ผ่านตัวกลาง Platform ที่เป็น E-Market Place รายใหญ่ ส่งผลให้การแข่งขันมีความรุนแรงขึ้น จนทำให้การมองหาลูกค้าใหม่ๆ หรือการรักษากลุ่มลูกค้าเก่าและจูงใจให้กลับมาซื้อซ้ำของกลุ่มผู้ประกอบการ SME ทำได้ยากลำบากขึ้น โดยกลุ่มผู้ประกอบการซื้อมาขายไป และหมวดสินค้าที่เหมือนหรือไม่แตกต่างกับคู่แข่ง น่าจะเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงและเผชิญความท้าทายในการทำธุรกิจมากที่สุด เช่น กลุ่มผู้ประกอบการที่นำเข้าสินค้าแฟชั่น (เสื้อผ้า กระเป๋า รองเท้า) จากประเทศจีนมาจำหน่าย เป็นต้น นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ SME ยังเผชิญอุปสรรคในการทำการตลาดออนไลน์ โดยเฉพาะการขาดบุคลากรที่มีความรู้มาช่วยทำการตลาด การขาดงบประมาณในการทำการตลาด ทำให้การประชาสัมพันธ์หรือการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าทำได้ยากขึ้น ร้านค้าไม่เป็นที่รู้จักของลูกค้า รวมถึงอุปสรรคทางด้านบริหารจัดการต้นทุนสินค้าและการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาสำคัญของผู้ประกอบการ SME ที่ไม่สามารถบริหารจัดการได้ โดยเฉพาะเมื่อต้นทุนด้านต่างๆ เช่น ต้นทุนสินค้า ต้นทุนแรงงาน ปรับเพิ่มสูงขึ้น จนส่งผลต่อการบริหารจัดการธุรกิจและความสามารถในการแข่งขันในปัจจุบัน​
 

 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองว่า การปรับตัวของผู้ประกอบการ SME โดยการใช้กลยุทธ์สร้างประสบการณ์ที่พึงพอใจและทำให้เกิดความประทับใจแก่ลูกค้าในแต่ละราย (Customized Experience) น่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้ผู้ประกอบการ SME อยู่รอดและแข่งขันได้ และการปรับตัวดังกล่าวไม่ควรหยุดนิ่ง ผู้ประกอบการต้องพยายามปรับตัวให้ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าแต่ละรายที่พยายามมองหาประสบการณ์หรือสิ่งแปลกใหม่อยู่เสมอ ซึ่งนอกจากจะจูงใจให้ลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำแล้ว ยังอาจเกิดการบอกเล่าความประทับใจให้กับคนรอบข้างผ่านการแชร์ข้อมูลหรือประสบการณ์ที่ได้รับมา และเกิดเป็นลูกค้ากลุ่มใหม่ได้ นอกจากนี้ ปัจจุบันมีหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่คอยให้การสนับสนุนและช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ Online ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ประกอบการที่ขาดความรู้ความเข้าใจในการทำตลาด การบริหารจัดการต้นทุน รวมถึงการเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ ได้​​ 
 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

K SME Analysis