Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 ตุลาคม 2562

K SME Analysis

ตลาดค้าปลีก สปป.ลาว โอกาสทำเงิน SME ไทย

คะแนนเฉลี่ย

​​ เศรษฐกิจ สปป.ลาว ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเติบโตเฉลี่ยถึงร้อยละ 7.7 นับว่าโดดเด่นที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน นั่นมีส่วนยกระดับรายได้ของประชากรในประเทศขึ้นมาอยู่ที่เฉลี่ย 2,690 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อคนต่อปี (ต่ำกว่าไทยราว 2.6 เท่าตัว) หนุนนำความเป็นเมืองเติบโตไปพร้อมกับเศรษฐกิจและการลงทุนที่หลั่งไหลเข้ามาเป็นหนึ่งในเครื่องกระตุ้นการจับจ่ายสินค้าภายในประเทศสะท้อนผ่านยอดค้าปลีกในปี 2561 ยังคงเติบโตที่ร้อยละ 8.7 มีมูลค่ารวม 1.35 พันล้านดอลลาร์ฯ (11.8 ล้านล้านกีบ) ประกอบกับข้อจำกัดด้านการผลิตของ สปป.ลาว ทำให้สินค้าที่วางจำหน่ายในประเทศต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทยและจีน อย่างไรก็ดี ไทยที่มีข้อได้เปรียบจากพรมแดนติดกัน สปป.ลาว ทำให้สินค้าไทยเป็นที่ชื่นชอบมายาวนาน และมีความได้เปรียบด้านคุณภาพเมื่อเทียบกับสินค้าจากจีน จึงเป็นโอกาสของสินค้าไทยในการทำตลาดได้หลากหลายขึ้นเพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมการบริโภคที่เปลี่ยนไป​


 
  ผู้บริโภคชาว สปป.ลาว ส่วนใหญ่มีรายได้น้อยจึงต้องวางแผนการใช้จ่ายในแต่ละวันและอ่อนไหวต่อราคาและโปรโมชั่นสินค้าเป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่เลือกจับจ่ายสินค้าจากร้านค้าปลีกดั้งเดิมและตลาดสดใกล้ที่พักอาศัยเพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทางและซื้อได้ครั้งละไม่มาก ซึ่งจะเห็นได้ว่าประชากร สปป.ลาว ที่ยากจนมีอยู่ถึงเกือบครึ่งประเทศหรือราว 3 ล้านคน มีรายได้ต่ำกว่า 3.1 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อวัน (World Bank, 2017) ขณะที่ประชากรที่มีกำ​​ลังซื้อค่อนข้างสูงล้วนอาศัยอยู่ในเมืองเศรษฐกิจอย่างนครหลวงเวียงจันทน์ แขวงเวียงจันทน์ แขวงหลวงพระบาง และแขวงสะหวันนะเขต ที่มีร้านค้าปลีกสมัยใหม่ทั้งห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ และร้านสะดวกซื้อ ที่กระจุกตัวอยู่ในพื้นที่ดังกล่าวตอบโจทย์ความต้องการบริโภคสินค้าคุณภาพ สินค้านำเข้า และสินค้ามีแบรนด์ นอกจากการใช้จ่ายในประเทศแล้ว กลุ่มคนร่ำรวยก็ยังใช้เวลาในวันหยุดเสาร์-อาทิตย์ข้ามฝั่งจาก สปป.ลาว มาจับจ่ายซื้อสินค้าจากห้างค้าปลีกในไทยได้ค่อนข้างสะดวก​

 

​​ สินค้าอุปโภค-บริโภค สินค้าเกี่ยวเนื่องกับชีวิตประจำวันยังคงมีโอกาสเติบโตเพื่อตอบโจทย์ความต้องการในการดำรงชีพและสอดคล้องกับกำลังซื้อของประชากร อาทิ อาหาร ของใช้ในชีวิตประจำวัน ขนมขบเคี้ยว และเครื่องดื่ม ขณะที่สินค้าไลฟ์สไตล์ก็มีโอกาสตอบสนองกำลังซื้อที่แข็งแกร่งในเขตเมือง อาทิ เสื้อผ้า เครื่องประดับ เครื่องใช้ไฟฟ้า อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารสุขภาพ อาหารออแกนิกส์ ของแต่งบ้าน อุปกรณ์แต่งรถยนต์ และเครื่องสำอางจากธรรมชาติ อย่างไรก็ดี เทคนิคการตลาดที่เน้นด้านราคาสินค้าก็สามารถกระตุ้นการใช้จ่ายได้ค่อนข้างดี และควรใช้ในจังหวะที่สอดคล้องกับเทศกาลประจำปี อาทิ เทศกาลปีใหม่สากล ปีใหม่ของ สปป.ลาว ในเดือนเมษายน ปีใหม่จีนและปีใหม่เวียดนาม เทศกาลทำบุญเข้าพรรษาในช่วงเดือนกรกฎาคม-ตุลาคม และฤดูกาลท่องเที่ยวในเดือนพฤศจิกายน-มีนาคม

 

  ด้วยตลาดสปป.ลาว มีขนาดเล็ก มีจำนวนประชากรเพียง 7 ล้านคน การนำสินค้าไปจำหน่ายเองตามแหล่งจำหน่ายขนาดเล็กจึงไม่คุ้มค่า ดังนั้น SME ไทยควรหาตัวแทนนำสินค้าไทยไปจำหน่ายยัง สปป.ลาว เพื่อเป็นตัวช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากและลดภาระต้นทุนด้านต่างๆ ทั้งการผ่านแดน การขนส่ง และการจัดจำหน่าย ซึ่งตัวแทนดังกล่าวมักมีเครือข่ายการขนส่งและกระจายสินค้าที่สามารถเข้าถึงร้านค้าปลีกดั้งเดิม ตลาดสด รวมทั้ง ร้านค้าปลีกเฉพาะทางที่จำหน่ายสินค้าเสื้อผ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า สุขภาพและความงาม และของแต่งบ้าน ที่เป็นแหล่งจำหน่ายอยู่แล้ว โดย 1) ติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์ (www.ditp.go.th) ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานส่งเสริมการค้าตั้งอยู่ในนครหลวงเวียงจันทน์ ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทำธุรกิจที่ สปป.ลาว ได้ หรือ 2) ติดต่อตัวแทนจากบริเวณจังหวัดชายแดนไทยอย่างหนองคาย อุบลราชธานี นครพนม

     สำหรับการส่งสินค้าจำหน่ายผ่านช่องทาง E-commerce มีโอกาสค่อนข้างน้อยและยังไม่เอื้อต่อการทำธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการต่างประเทศเพราะยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ระบบการชำระเงินยังคงเป็นรูปแบบเก็บเงินปลายทาง รวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งในประเทศยังค่อนข้างสูง แต่ก็แสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมการบริโภคของชาว สปป.ลาว ก็เปลี่ยนไปตามกระแสโลกผ่านกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เริ่มให้ความสนใจการซื้อสินค้าผ่านสมาร์ทโฟนในกลุ่มสินค้าแฟชั่น เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องประดับ อุปกรณ์เสริมความงาม เครื่องใช้ส่วนบุคคล เป็นต้น​

 

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

K SME Analysis