Display mode (Doesn't show in master page preview)

18 มีนาคม 2562

K SME Analysis

โอกาสทางธุรกิจสำหรับ SME ผ่านช่องทางการค้าปลีกในเวียดนาม

คะแนนเฉลี่ย

​          ในเวลานี้เวียดนามนับเป็นตลาดที่น่าสนใจอย่างมากด้วยหลายปัจจัยแวดล้อม ที่ SMEs ไทยควรอาศัยจังหวะนี้นำสินค้าไทยที่สอดคล้องกับการบริโภคเร่งรุกทำตลาดผ่านช่องทางร้านค้าปลีกในเวียดนามที่เริ่มกระจายตัวออกจากเมืองหลักไปยังพื้นที่อื่นมากขึ้น ตามการเติบโตทางเศรษฐกิจที่โดดเด่นถึงร้อยละ 7.08 ในปี 2561 สูงสุดในรอบ 11 ปี และสามารถตอบโจทย์ประชากรมากถึง 93.7 ล้านคน และในจำนวนนี้กว่าร้อยละ 70 อยู่ในวัยแรงงาน (อายุ 15-64 ปี) ที่เป็นกำลังซื้อสำคัญในการกระตุ้นยอดค้าปลีกให้มีแนวโน้มเติบโตได้ต่อเนื่องจากปัจจุบันที่ขยายตัวในอัตราสูงร้อยละ 11.7 มีมูลค่าแตะ 191 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปีที่ผ่านมา

           การเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นเมืองก็ยิ่งหนุนให้มีชนชั้นกลางและชนชั้นมั่งคั่ง (มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 714 ดอลลาร์สหรัฐฯ/เดือน) มีบทบาทต่อการบริโภคทั้งในเมืองเศรษฐกิจหลักและในเมืองรองอย่างน่าสนใจ แม้ว่าประชากรกลุ่มนี้จะขยับเข้าใกล้จำนวน 1 ใน 3 ของประชากรทั้งประเทศในปี 2563 แต่ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเป็นเมืองก็ยิ่งหนุนให้มีชนชั้นเหล่านี้เพิ่มขึ้นตามมาและกลายเป็นกำลังซื้อสำคัญของร้านค้าปลีกสมัยใหม่ (Modern Trade) ที่เป็นที่ต้องการในอีกหลายพื้นที่ ซึ่งปัจจุบันมีร้านค้าปลีกสมัยใหม่เพียงร้อยละ 30 ของร้านค้าปลีกทั้งหมด และกระจุกตัวในเมืองใหญ่รายรอบฮานอย โฮจิมินห์ และดานังเป็นหลัก ขณะที่ร้านค้าปลีกอีกกว่าร้อยละ 70 เป็นร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม (Traditional Trade) ที่มีขนาดกลางและเล็กและดำเนินงานโดยผู้ประกอบการท้องถิ่น

          อย่างไรก็ดี ตลาดเวียดนามก็มีขนาดใหญ่ทั้งยังมีความแตกต่างในการบริโภคค่อนข้างชัดเจนโดยเฉพาะภาคเหนือและภาคใต้ของประเทศ ผู้ประกอบการจึงควรมีเป้าหมายตลาดที่ชัดเจนและมีแผนการตลาดเป็นการเฉพาะในแต่ละพื้นที่ ซึ่งในภาพรวมแล้วรายได้ของชาวเวียดนามยังไม่สูงนักจึงค่อนข้างอ่อนไหวต่อราคาสินค้า แต่ก็ให้ความสำคัญกับคุณภาพโดยเชื่อมั่นในคุณภาพสินค้าไทยมากกว่าสินค้าจีน กระนั้นก็ดี ในแต่ละพื้นที่ก็มีพฤติกรรมและค่านิยมเฉพาะถิ่น อาทิ ฮานอยที่เป็นเมืองหลวงและศูนย์กลางเศรษฐกิจตอนเหนือมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง รู้จักเก็บออม แต่ก็เต็มใจที่จะจ่ายในราคาที่สูงหากสินค้ามีคุณภาพ นอกจากนี้อิทธิพลของสื่อโซเชียลกับคำแนะนำของคนรอบข้างมีผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าค่อนข้างมาก ขณะที่เมืองเศรษฐกิจหลักทางตอนใต้อย่างโฮจิมินห์มีความชื่นชอบโน้มเอียงไปทางโลกตะวันตกที่พร้อมเปิดรับสิ่งแปลกใหม่ ชอบใช้จ่าย จึงเน้นไปที่สินค้าราคาประหยัด แต่จะตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าด้วยความชื่นชอบของตนเองเป็นหลัก

    ​    นอกจากนี้ การทำการตลาดผ่านสื่อบนโลกดิจิทัลก็เป็นช่องทางหนึ่งในการประชาสัมพันธ์สินค้าและเพิ่มโอกาสทำตลาดในพื้นที่อื่นได้มากขึ้น จึงควรทำควบคู่ไปกับแผนการตลาดผ่านช่องทางค้าปลีกแบบปกติ เพราะทุกวันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการซื้อสินค้าและบริการของชาวเวียดนามเช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะการรีวิวสินค้าผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ (Social Network) ที่สามารถโน้มนำการบริโภคของชาวเวียดนามยุคใหม่ ซึ่งผู้บริโภคกลุ่มนี้เองก็ซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ด้วยความสะดวกของเครือข่ายการสื่อสารและระบบรับชำระเงินแบบดิจิทัลที่ครอบคลุมเมืองสำคัญของเวียดนามมากขึ้น

         สินค้าไทยได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภคชาวเวียดนาม จึงน่าจะมีโอกาสต่อยอดขยายตลาดตามติดร้านค้าปลีกสมัยใหม่ไปยังพื้นที่อื่นของเวียดนามได้อีก โดยกลุ่มเป้าหมายของสินค้าไทยอยู่ในกลุ่มลูกค้ารายได้ระดับกลาง-ระดับบนที่ยังมีช่องว่างให้สินค้าไทยทำตลาดได้ และสินค้าไทยมีสถานะทางการแข่งขันเหนือกว่าสินค้าท้องถิ่นกับสินค้าจากจีน ดังนั้น ผู้ประกอบการ SMEs แบรนด์ไทยที่มีสินค้าคุณภาพ ราคาเหมาะสม มีโอกาสส่งสินค้าไปตอบโจทย์การบริโภคได้ค่อนข้างหลากหลาย โดยสินค้าที่น่าสนใจอยู่ในกลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ส่วนบุคคล เสื้อผ้า รองเท้า เครื่องใช้ในบ้านและของแต่งบ้าน ซึ่งการส่งสินค้าเพื่อเข้าสู่เครือข่ายร้านค้าปลีกสมัยใหม่สำหรับธุรกิจ SMEs สามารถทำได้โดย 1) ติดต่อหาผู้นำเข้าหรือผู้กระจายสินค้าจากฝั่งไทยหรือฝั่งเวียดนามเพื่อให้เป็นผู้ช่วยทำตลาดในเวียดนาม และ 2) การเข้าไปจัดตั้งธุรกิจ Trading company ในเวียดนามเพื่อนำเข้าและจำหน่ายสินค้าในเวียดนามด้วยตนเองซึ่งในกรณีนี้ต้องมีความเชี่ยวชาญในพื้นที่พอสมควร อย่างไรก็ดี SMEs ไทยที่สนใจนำสินค้าเข้าไปจำหน่ายในเวียดนามสามารถติดต่อกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ของกระทรวงพาณิชย์ (www.ditp.go.th) ซึ่งมีเครือข่ายสำนักงานส่งเสริมการค้าตั้งอยู่ในเวียดนามทั้งในฮานอยและโฮจิมินห์ที่สามารถช่วยเหลือผู้ประกอบการในการทำธุรกิจที่เวียดนามได้

Scan QR Code


QR Code

หมายเหตุ

รายงานวิจัยฉบับนี้จัดทำเพื่อเผยแพร่ทั่วไป โดยจัดทำขึ้นจากแหล่งข้อมูลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ แต่บริษัทฯ มิอาจรับรองความถูกต้อง ความน่าเชื่อถือ หรือความสมบูรณ์เพื่อใช้ในทางการค้าหรือประโยชน์อื่นใด บริษัทฯ อาจมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลได้ตลอดโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ทั้งนี้ผู้ใช้ข้อมูลต้องใช้ความระมัดระวังในการใช้ข้อมูลต่างๆ ด้วยวิจารณญาณตนเองและรับผิดชอบในความเสี่ยงเองทั้งสิ้น บริษัทฯ จะไม่รับผิดต่อผู้ใช้หรือบุคคลใดในความเสียหายใดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าว ข้อมูลในรายงานฉบับนี้จึงไม่ถือว่าเป็นการให้ความเห็น หรือคำแนะนำในการตัดสินใจทางธุรกิจ แต่อย่างใดทั้งสิ้น

K SME Analysis