Display mode (Doesn't show in master page preview)

21 กันยายน 2561

การค้า

ส่งออก ส.ค. 61 เฉียด 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์ฯ...สูงสุดเป็นประวัติการณ์ ขณะที่ข้อพิพาททางการค้าเริ่มส่งผลต่อส่งออกไทยชัดเจนขึ้น (มองเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3761)

คะแนนเฉลี่ย

​          ​​​การส่งออกสินค้าของไทยในเดือนส.ค. 2561 มีมูลค่าอยู่ที่ 22,794 ล้านดอลลาร์ฯ นับเป็นมูลค่าส่งออกที่สูงที่สุดในประวัติการณ์ แต่อัตราการขยายตัวชะลอลงจากช่วงก่อนหน้ามาอยู่ที่ร้อยละ 6.7 YoY ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงมากในปีก่อน ประกอบกับการส่งออกทองคำหดตัวมากถึงร้อยละ 66.6 ซึ่งเมื่อหักมูลค่าส่งออกทองคำแล้ว การส่งออกสินค้าของไทยขยายตัวร้อยละ 10.3 YoY โดยปัจจัยหลักๆ ที่ทำให้การส่งออกสินค้าไทยขยายตัวดีต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 18 มาจากราคาน้ำมันดิบโลกที่ในช่วงเดือนส.ค. 2561 อยู่ในระดับสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน การส่งออกรถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบไปยังตลาดเวียดนามพลิกกลับมาขยายตัวสูง รวมถึงการส่งออกสินค้าเกษตรพลิกกลับมาขยายตัวเป็นบวกจากการส่งออกข้าวและผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังที่ขยายตัวดีตามปริมาณการส่งออกที่ติดลบน้อยลง

                 อย่างไรก็ดี หากพิจารณาในรายละเอียดแล้ว พบว่า ประเด็นข้อพิพาททางการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับจีน ทยอยส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยบางประเภท โดยเฉพาะสินค้าส่งออกที่ไทยอยู่ในห่วงโซ่อุปทานการผลิตของจีน อาทิ แผงวงจรไฟฟ้าที่สหรัฐฯ มีการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจากจีนมาที่ร้อยละ 25 ตั้งแต่วันที่ 23 ส.ค. 2561 เป็นต้นมา (มีการประกาศรายละเอียดว่าจะมีการจัดเก็บภาษีนำเข้าแผงวงจรไฟฟ้าตั้งแต่ 15 มิ.ย. 2561) ทำให้การส่งออกแผงวงจรไฟฟ้าของไทยไปจีนหดตัวอย่างมากตั้งแต่เดือนก.ค. 2561 เป็นต้นมา ในขณะที่การส่งออกสินค้าไทยไปสหรัฐฯ ที่เร่งตัวขึ้นอย่างมากในช่วงครึ่งแรกของปี 2561 กลับชะลอลง

               การเดินหน้าประกาศจัดเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจีนอีก 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยผ่านความเชื่อมโยงห่วงโซ่การผลิตกับจีน รวมถึงการไหลทะลักของสินค้าจีนมายังประเทศในภูมิภาค โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการตอบโต้ทางภาษีในรอบ 200,000 ล้านดอลลาร์ฯ นี้ จะไปเห็นผลชัดเจนในปี 2562 ในขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยได้ประเมินภาพการส่งออกในปี 2561 โดยได้รวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการจัดเก็บภาษีในรอบ 50,000 ล้านดอลลาร์ฯ เข้าไว้แล้ว ทำให้การส่งออกในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จะผ่อนแรงลงจากช่วงครึ่งปีแรก โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงมุมมองทั้งปี 2561 ไว้ที่ร้อยละ 8.8 


ดูรายละเอียดฉบับเต็ม