Display mode (Doesn't show in master page preview)

29 สิงหาคม 2565

อุตสาหกรรม

อุตสาหกรรมที่พึ่งพาแรงงานในสัดส่วนสูง คาดอาจมีกำไรลดลง 5%-15% จากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ (กระแสทรรศน์ ฉบับที่ 3340)

คะแนนเฉลี่ย

​ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 5% จากอัตราเดิม เริ่ม 1 ต.ค.65 จะมีผลต่อต้นทุนภาคอุตสาหกรรมในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้และปีถัดไป โดยอาจทำให้ต้นทุนเพิ่มเฉลี่ยราว 0.5% และกระทบกำไรจากการดำเนินงานให้ลดลงเฉลี่ยราว 4.6%

สำหรับอุตสาหกรรมการเกษตร ค้าปลีก โรงแรม ร้านอาหาร ก่อสร้าง ซึ่งมีต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมในสัดส่วนสูง เบื้องต้นอาจมีกำไรลดลงมากกว่าค่าเฉลี่ยอุตสาหกรรม หรือลดลง 5%-15% ขึ้นอยู่กับความยืดหยุ่นในการปรับตัวและความสามารถในการแข่งขันในตลาดของแต่ละธุรกิจ ทั้งนี้ ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการต้องเผชิญกับต้นทุนที่ปรับขึ้นหลายด้าน แต่อาจสามารถขยับราคาสินค้าขึ้นได้จำกัด ซึ่งตัวเลขข้างต้น เป็นการวิเคราะห์ผลกระทบเบื้องต้นโดยเน้นไปที่ต้นทุนแรงงาน ภายใต้สมมติฐานว่าปัจจัยอื่นๆ ที่เหลือคงที่ และกำไรจะลดลงหากธุรกิจไม่สามารถขยับราคาขายได้

ไม่เพียงต้นทุนแรงงาน ที่จริงแล้วภาคอุตสาหกรรมได้เผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนมาก่อนหน้านี้และยังมีแนวโน้มที่ต้นทุนจะยังคาอยู่ในระดับสูง ทั้งวัตถุดิบและพลังงาน และถัดจากนี้อาจยังมีต้นทุนทางการเงิน ท่ามกลางสถานการณ์ฝั่งรายได้ที่ในภาพรวมแม้จะเริ่มทยอยฟื้นตัวดีขึ้นตามลำดับ แต่ก็ยังมีความเปราะบางและเป็นแนวโน้มการฟื้นตัวที่ยังไม่แข็งแรง นั่นหมายความว่า การรักษาความสามารถในการทำกำไรจะยังคงเป็นโจทย์ท้าทายเฉพาะหน้าสำหรับภาคอุตสาหกรรมต่อไป

ไปข้างหน้า ภาคอุตสาหกรรมจะยังถูกกดดันจากประเด็นแรงงานภายใต้โครงสร้างประชากรไทยที่จำนวนจะลดลงและเป็นผู้สูงวัยมากขึ้น ซึ่งนอกจากศักยภาพด้านรายได้ที่อาจเติบโตในอัตราที่จำกัดลงท่ามกลางการแข่งขันสูงแล้ว ผู้ประกอบการอาจประสบอุปสรรคด้านต้นทุนจากภาวะขาดแคลนแรงงานและค่าจ้างที่คงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทำให้สุดท้ายแล้วจำเป็นต้องเร่งให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านผลิตภาพแรงงานตั้งแต่ตอนนี้หากสามารถดำเนินการได้ เพื่อที่จะรักษาความสามารถในการแข่งข้นและอยู่รอดได้ในระยะกลางถึงยาว

ดูรายละเอียดฉบับเต็ม


อุตสาหกรรม